เจ้าพระยาสุธรรมนตรีศรีธรรมราช มาตยพงศ์สถาพร วรเดโชไชย อภัยพิริยปรากรมพาหุ (หนู ณ นคร)

2021

พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เดิมชื่อหนู เกิด พ.ศ. ใด และที่ใดไม่ปรากฏชัด เมื่อหนุ่มมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงนายสิทธิ์นายเวรมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้า อุทุมพร

ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราช เป็นที่รู้จักกันในนาม “พระปลัดหนู” ในช่วงก่อนจะเสียกรุงครั้งที่สอง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชถูกกล่าวโทษ จึงถูกเรียกตัวไปในกรุงศรีอยุธยา พระปลัดหนูจึงรักษาการเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และภายหลังที่สมเด็จพระเจ้าตากสินสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ๙ ปี ก็ได้รับการสถาปนาเป็น “เจ้าประเทศราช” ในพระนามข้างต้นอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งถูกถอดพระยศในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

บทบาท ของพระปลัดหนูแห่งเมืองนครศรีธรรมราชเริ่มปรากฏชัดขึ้นเมื่อครั้งที่กองทัพ พม่ารุกมาใกล้กรุงศรีอยุธยา ในต้นปี พ.ศ. ๒๓๑๐  กล่าวคือสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ มีพระบรมราชโองการให้พระยานครศรีธรรมราช (เดิม) เข้ามาทำการช่วยราชการอยู่ในบริเวณหัวเมืองชั้นใน ส่วนเมืองเมืองนครศรีธรรมราชนั้นโปรดให้พระปลัดหนูรักษาราชการอยู่ พระยานครศรีธรรมราชจะสู้รบพม่าจนตัวตายหรือไม่อย่างไรไม่ทราบแน่ แต่ในคราวกรุงแตก ปรากฏว่าพระยานครศรีธรรมราชหายสาบสูญไป กรมการเมือง และประชาขนชาวนครศรีธรรมราชพร้อมกันยกพระปลัดหนูขึ้นเป็นผู้ครองเมืองนครศรี ธรรมราช พระปลัดหนูได้ตั้งตนเป็นอิสระอยู่แคว้นหนึ่ง มีอาณาเขตตั้งแต่ชุมพรตลอดลงไปถึงหัวเมืองมลายูบางเมือง เรียกว่า “ชุมชนเจ้านคร”
ระหว่างนั้นหัวเมืองมลายูบางเมืองก่อการกำเริบขึ้น เจ้านคร (พระปลัดหนู) ทำการปราบปราบจนสงบราบคาบ สามารถรักษาอำนาจของไทยไว้ได้

ต่อ มา พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินได้เสด็จยกกองทัพเรือไปปราบนครศรีธรรมราชเพื่อรวม อาณาจักรไทย เจ้านครต้านไม่ไหวอพยพหนีไปอยู่เมืองตานี กองทัพกรุงธนบุรีตามจับได้ทั้งเจ้านครและพรรคพวกกลับมาพร้อมกัน ลูกขุนปรึกษาให้สำเร็จโทษเสีย แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชดำริว่าคณะของเจ้านครศรีธรรมราชไม่มีความ ผิดฐานกบฏ และเมื่อจับมาแล้วทุกคนก็ยอมสวามิภักดิ์ไม่มีอาการกระด้างกระเดื่อง จึงพระราชทานอภัยโทษ โปรดให้เข้ามารับราชการในกรุงตามความสามารถของแต่ละคน แต่เรื่องชื่อนั้นผู้คนสมัยนั้นก็ยังคงเรียกว่า “เจ้านคร” ดังเดิม ส่วนการปกครองหัวเมืองนครศรีธรรมราชโปรด ฯ ให้เจ้านราสุริยวงศ์ พระเจ้าหลานเธอ เป็นเจ้าเมืองแทน
อนึ่ง เพราะเมืองนครตั้งเป็นรัฐมาแล้วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งถ้าจะยกเมืองนครเป็นขัณฑสีมาให้มีฐานะสูงกว่าเมืองเอก เพื่อสะดวกแก่การเพิ่มพูนกำลังทางภาคใต้ ก็ย่อมเหมาะสมกับนโยบายในเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกเมืองนครศรีธรรมราชเป็นประเทศราชปกครองเมืองปัตตานี ไทรบุรี ตรังกานู ตลอดถึงหัวเมืองชายทะเลหน้านอกทั้งหมด

ฝ่ายเจ้านครรับราชการสนองพระ เดชพระคุณอยู่ ณ กรุงธนบุรีด้วยความอุตสาหะ ซื่อสัตย์มั่นคงตลอดมา ครั้นใน พ.ศ. ๒๓๑๙ เจ้านราสุริยวงศ์ทิวงคต สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาเลื่อนพระยศเจ้านครขึ้นเป็น “พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๓ ค่ำ ครั้งนั้นโปรดให้พระเจ้าขัตติราชนิคมครองนครศรีธรรมราช และดำรงพระอิสริยยศเสมอพระเจ้าประเทศราช เช่นเจ้ากรุงกัมพูชาสืบมา

อนึ่ง มีร่างพระราชปรารภในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เกี่ยวกับการเฉลิมพระยศพระเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งมีถ้อยคำต่างจากที่พิมพ์ไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒ บางคำ จึงนำมาลงไว้ให้เต็มตามร่างนั้นดังต่อไปนี้
“ด้วยทรงพระกรุณาตรัส เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมรับสั่งว่า ถ้าพระนครศรีอยุธยาหาเสียแก่ข้าศึกไม่ ฝ่ายนครศรีธรรมราชอุบัติจะเลี้ยงมิได้ เมื่อพิจารณาดูพระนครศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว ฝ่ายกรรรมการเมืองนครหาที่พึ่งไม่ได้ ยกปลัดเมืองขึ้นผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าพิภพ ก็ได้พึ่งอาศัยประยุทธ์ชังชัยชนะแขกข้าศึก ถ้าหาไม่ขัณฑสีมาก็จะส้ำสามเป็นไป ความชอบจึงมีอยู่กับแผ่นดิน ฝ่ายศักดิกฤษฎานุภาพคงขัตติยราชผู้หนึ่ง บัดนี้ธิดาก็ได้ราชโอรส (เจ้าหญิงฉิม เจ้าหญิงปราง เจ้าหญิงญวน ธิดาเจ้านคร ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ฝ่ายพระยานครก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนิน ช่วยทำการยุทธชิงชัยชนะเขมร พม่าข้าศึก ครั้นจะเอาไว้ให้บังคับพลช่วยการแผ่นดินพระนครศรีอยุธยาเป็นฝาเป็นตัวอยู่ เสร็จสิ้น ประการหนึ่งก็มีทาสกรรมกรแต่ยี่สิบ สามสิบ หาต้องการที่อยู่ไม่ ฝ่ายเจ้านครสุริยวงศ์ก็สวรรคาลัย ควรให้ไปบำรุงฝ่ายหน้าฝ่ายในให้สรรพด้วยอภิรุมราชยานราชูปโภค จงเป็นเกียรติยศ ทรงพระนามเป็นพระยาประเทศราช รับราชการผ่านแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราชเหมือนอย่างกรุงกัมพูชาธิบดี”
แต่ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๒๕ อันเป็นปีที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ลดฐานะเสนาบดีจตุสดมภ์นครศรีรรมราชลงเป็นเพียงกรมการเมืองเอก และแยกเมืองสงขลา ปัตตานี ไทรบุรี ตรังกานู ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ และโปรดให้ลดฐานะเมืองนครศรีธรรมราชจากประเทศราชลงเป็นหัวเมืองชั้นเอก
ต่อ มา พ.ศ. ๒๓๒๗ เป็นปีที่สามในรัชกาลที่ ๑ พระเจ้านครศรีธรรมราชถูกถอดพระยศปลดจากตำแหน่งให้มาประจำอยู่ ณ กรุงเทพ ฯ จนตลอดพระชนมายุ

สกุลต่าง ๆ ที่สืบเชื้อสายจากธิดาพระเจ้านครศรีธรรมราช ได้แก่

๑. บูรณสิริ
๒. สุจริตกุล
๓. ภูมิรัตน์
๔. อินทรกำแหง
๕. อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา
๖. กำภู ณ อยุธยา
๗. เกศรา ณ อยุธยา
๘. อนุชศักดิ์ ณ อยุธยา
๙. นันทิศักดิ์ ณ อยุธยา
๑๐. พงษ์สิน
๑๑. นพวงศ์ ณ อยุธยา
๑๒. สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา
๑๓. ธรรมสโรช
๑๔. รุ่งไพโรจน์
๑๕. พิพัฒนศิริ
๑๖. ณ นคร
๑๗. โกมารกุล ณ นคร
๑๘. จาตุรงคกุล
๑๙. ศรีธวัช ณ อยุธยา
๒๐. วัฒนวงศ์ ณ อยุธยา

กล่าวโดยสรุปพระเจ้าขัตติยราชนิคมเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติผู้ หนึ่ง คือได้รวบรวมชาติไทยฝ่ายใต้ไม่ให้แตกแยกกระจัดกระจาย ในขณะที่ประเทศชาติกำลังถูกคุกคามจากภัยพิบัติทางสงคราม เป็นผู้ที่มีความเคารพในเหตุผล ไม่มีทิฐิมานะ เมื่อทราบแน่ชัดว่าบุคคลอื่นที่มีความสามารถกว่าตนในอันที่จะรวมชาติไทยให้ เป็นปึกแผ่น ในเวลาต่อมาก็ได้รับใช้ชาติในราชการสงครามหลายครั้งหลายหน และถือปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา แม้ในปั้นปลายของชีวิตจะถูกถอดยศลดอำนาจลงก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุผลทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญที่จะลบเลือนความดีงามลงได้เลย จึงนับว่าเป็นบุคคลที่มีประโยชน์อันควรจะได้รับการยกย่องสรรเสริญอีกผู้ หนึ่ง

 

 

 

เครดิต     http://nanagara.com