เจ้าพระยานคร (พัฒน์) หรือเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เป็นเจ้าเมืองอันดับที่ ๒ ของนครศรีธรรมราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เอกสารจดหมายเหตุเรื่องลำดับวงศ์สกุล ที่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเรียบเรียง
ได้กล่าวว่าเจ้าพระยานครผู้นี้เดิมเป็นหม่อมเจ้า ในกรมหมื่นอินทรพิทักษ์ (รัชกาลที่ ๓๓ กรุงเก่า) เป็นอุปราชเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยเจ้านคร (หนู) ตั้งตัวเป็นใหญ่จนถึงสมัยกรุงธนบุรี เป็นบุตรเขยของพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ที่สุดได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ “เจ้าพระยานครศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชชัย มไหสุริยธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งในพงศาวดารเรียกว่า พระอุปราช หรือเจ้าพัฒน์
ในสมัยกรุงธนบุรีได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว และประเทศชาสติ เช่น ตามเสด็จไปราชการทัพ ชนะศึกมีความชอบหลายครั้งหลายหนจนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าตากสินยิ่งนัก ถึงกับยกเจ้าหญิงปรางชายาของพระองค์ ให้เป็นชายาของพระอุปราช ภายหลังทราบว่าท่านหญิงนวลชายาเดิมสิ้นชีพลง แต่บังเอิญเจ้าหญิงปรางทรงครรภ์ติดมาด้วย พระอุปราชรับพระราชทานไว้แต่ให้อยู่ในฐานะ “แม่วัง” มิได้ข้องเกี่ยวในฐานะชายาแต่อย่างใด เนื่องจากมีความเคารพในองค์พระประมุขมาก เมื่อเจ้าหญิงปรางประสูติโอรส ได้ดำรงยศเป็นราชบุตรของพระอุปราช (พัฒน์) ปรากฏนามว่า “เจ้าน้อย” พระอุปราชได้เลี้ยงราชบุตรของเจ้านายตนอย่างทะนุถนอม เพราะถือว่าเป็นลูกของกษัตริย์ผู้มีพระคุณ
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเถลิงถวัลยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ โปรดให้ถอดยศพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ออกจากตำแหน่ง และให้กลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระอุปราช (พัฒน์) ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๙ พระอุปราช (พัฒน์) ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยดีตลอดมา จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็๗พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระอุปราช (พัฒน์) ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาลาออกจากราชการด้วยเหตุที่ชรามาก เกรงว่าจะทำราชการสนองพระเดชพระคุณไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เลื่อนยศขึ้นเป็น “เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ศรีธรรมาโศกราชวงศ์ เชษฐพงศ์ฦาไชย อนุไทยธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ” มีตำแหน่งที่ปรึกษาราชการของผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราชคนใหม่
เจ้าพระยานคร (พัฒน์) หรือพระอุปราช (พัฒน์) มีบุตรธิดาหลายคน ที่สำคัญได้แก่
๑. เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ในรัชกาลที่ ๑ คุณนวล ธิดาเจ้านคร (หนู) เป็นมารดา เป็นพระชนนีสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ในรัชกาลที่ ๓ (ในพระราชหัถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า “เจ้าป้าของหม่อมฉัน”)
๒. เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑ คุณนวล ธิดาเจ้านคร (หนู) เป็นมารดา เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงปัทมราช (ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า “เจ้าน้าเจ้าอาของหม่อมฉัน”)
๓. เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชชัย มไหสุริยธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (เดิมชื่อน้อย ดังมีเรื่องที่ได้กล่าวข้างต้น) เจ้าหญิงปรางหรือคุณหนูเล็ก ธิดาเจ้านคร (หนู) เป็นมารดา (ในพระราชหัถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า “น้อยคืนเมือง”)
๔. พระยาภักดีภูธร (ฉิม) รับราชการฝ่ายพระราชวังบวร
๕. ท่านผู้หญิงหนู ภรรยาเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ)
๖. นายจ่ายง (ขัน)
๗. พระราชภักดี (ร้าย) ยกกระบัตรเมืองนครศรีธรรมราช
๘. คุณใจ มหาดเล็ก
๙. คุณเริก มหาดเล็ก
๑๐. คุณกุน
เจ้าพระยานคร (พัฒน์) หรือพระอุปราช (พัฒน์) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘ นับเป็นแบบอย่างข้าราชการที่ดีผู้หนึ่ง คือเป็นผู้ที่ไม่ยึดถือในตัวบุคคลจนเกินไป แต่ยึดถือในหลักการและประโยชน์ของส่วนรวม คือประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ยังสามารถปฏิบัติราชการงานเมืองในหน้าที่ด้วยดีเสมอมา มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ และต่อผู้บังคับบัญชามาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นสมัยกรุงธนบุรีหรือกรุงรัตนโกสินทร์ จะเห็นว่าเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินมาทั้งสองสมัย
นอกจากนั้นยังเป็นที่รู้จักกาล รู้จักประมาณตน ปราศจากความโลภ ความหลงอย่างเช่นเมื่ออายุมาก ไม่สามารถปฏิบัติราชการด้วยดีได้ ก็กราบถวายบังคมทูลลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นที่มีความสามารถกว่าตนทำหน้าที่แทน คุณลักษณะเช่นนี้จึงทำให้เจ้าพระยานคร (พัฒน์) มีวิถีชีวิตที่ดำเนินมาด้วยความราบรื่นตราบสิ้นอายุขัย
เรื่องของเจ้าพระยานครพัฒน์ และคุณหนูเล็กหรือปราง ต้นสกุล ณ นคร
จากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชเพลิงศพ นายนิธิ ณ นคร ณ เมรุวัดธาตุทอง วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ ถนนมหาราช กรุงเทพมหานคร ๒๕๑๙
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้ว พระปลัดเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งว่าราชการเมืองอยู่ในขณะนั้น ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช ยกกองทัพไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ มาขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช เรียกกันว่าเจ้านคร (ในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราชมีความว่า เจ้านครคนนี้เดิมเป็นหลวงนายสิทธิ์ แล้วไปเป็นพระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช และมีบันทึกของราชบัณฑิตยสภาว่าหลวงสิทธิ์นายเวรคนนี้เข้าใจว่าชื่อหนู ด้วยมีในคาถาประกาศพิธีตรุษเมืองนคร ใช้คำว่ามุสิกในที่ขานนามเมื่อเป็นเจ้านคร เห็นจะเป็นเชื้อข้าราชการเก่าในเมืองนครศรีธรรมราช)
ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบพม่าแตกหนีไปแล้ว ได้ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติที่กรุงธนบุรี เสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ โปรดให้เจ้านราสุริยวงศ์ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอครองเมืองนครศรีธรรมราช พาเจ้านครเข้ามากรุงธนบุรีให้อยู่เป็นข้าราชการ เมื่อเจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราไลยแล้ว จึงโปรด ฯ ให้เจ้านครเป็นพรเจ้านครศรีธรรมราชครองเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป
เจ้าอุปราชพัฒน์บุตรเขยเจ้านคร ซึ่งเป็นต้นสกุล ณ นคร นั้น ในหนังสือพระราชวิจารณ์มีว่า “ลูกเขยผู้นี้คือเจ้าพระยานครพัฒน์ ที่เรียกกันว่าเจ้าพัฒน์ เป็นต้นวงศ์ของพวกนครศรีธรรมราช เดิมได้บุตรสาวคนใหญ่ของเจ้านครเป็นภรรยา จึงไปเป็นมหาอุปราชเรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อเจ้านครเสียเมืองก็ต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพ ฯ ด้วย ครั้นเจ้านครกลับออกไปเป็นเจ้าครั้งนี้ก็โปรดให้กลับออกไปเป็นวังหน้าตามเดิม เมื่อปลายแผ่นดินตาก ชายาเจ้าอุปราชเมืองนคร ฯ ตาย ฯ ล ฯ จึงพระราชทานบุตรหญิงเจ้านคร ซึ่งเป็นน้องเจ้ามารดาฉิม* (* น้องเจ้าจอมมารดาฉิม คือ คุณหนูเล็ก หรือปราง ธิดาเจ้านคร) มารดาพระพงษ์นรินทร์ให้ออกเป็นชายา ฯ ล ฯ กล่าวกันว่าเมื่อเวลาพระราชทานมีครรภ์ ๒ เดือน เจ้าพัฒน์จะไม่รับก็ไม่ได้ เมื่อรับไปแล้วก็ต้องไปตั้งไว้เป็นนางเมืองไม่ได้เป็นภรรยา บุตรที่มีครรภ์ไปนั้นเป็นชาย ชื่อ น้อย * (* ในลำดับสกุลเก่าบางสกุลภาค ๔ จึงลงเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครผู้นี้มีอำนาจวาสนามากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน เป็นเรื่องที่เขาเล่ากระซิบเป็นการเปิดเผย แลพวกบุตรหลานเจ้ากรุงธนบุรีก็นับถือว่าเป็นพี่น้อง เหตุฉะนั้นจึงเกี่ยวข้องกันในเชื้อวงศ์เจ้ากรุงธนบุรี กับพวกนครศรีธรรมราช พระยาเสน่หามนตรีบุตรเจ้าพระยานครน้อย ได้คุณปลัดเสงี่ยมบุตรพระพงษ์นรินทร์เป็นภรรยา ส่วนบุตรหลานเจ้ากรุงธนบุรีอื่น ๆ ไม่ได้มีสามีเป็นขุนนางเลย ได้แต่เจ้านายในพระราชวงศ์ปัจจุบันนี้ทั้งสิ้น นี่เหตุที่นับว่าเป็นญาติกั้นจึงยกให้กัน
กับในหนังสือลำดับสกุลเก่าบางสกุลมีว่า “เจ้าจอมมารดาฉิมเข้าใจว่าต้องพระราชประสงค์จึงนำคุณหนูเล็ก (ซึ่งเป็นน้อง) ถวายตัว ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเป็นเจ้าจอม อยู่มาเจ้าพัฒน์อุปราชเมืองนคร ซึ่งได้คุณนวลธิดาคนใหญ่ของเจ้านครเป็นภรรยา ไปราชการสงคราม คุณนวลภรรยาอยู่ข้างหลังถึงแก่กรรม ครั้นเสร็จการสงคราม เจ้าพัฒน์มีความชอบเข้ามาเฝ้าขุนหลวงตากรับสั่งว่าอย่าเสียใจเลย จะให้น้องสาวไปแทนตัวจะได้เลี้ยงลูก เสด็จขึ้นจึงดำรัสสั่งท้าวนางให้ส่งเจ้าจอมหนูเล็ก ไปพระราชทานเจ้าพัฒน์อุปราช”
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ โปรด ฯ ให้เจ้านครเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ ให้เจ้าพัฒน์บุตรเขยเจ้านครซึ่งเป็นเจ้าอุปราชเป็นเจ้าพระยานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ มีสมญาว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชชัย มไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากราพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ มีความชราทุพลภาพ จึงโปรด ฯ เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ศรีโศกราชวงศ์เชษฐพงศ์ฦๅชัย อนุไทยธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ จางวางเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๔
วิเชียร ณ นคร
จากหนังสือ “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ”
นางสาวพร้อม ณ นคร
ณ เมรุวัดท่าโพธิ์วรวิหาร ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง
นครศรีธรรมราช วันเสาร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔
http://nanagara.com/history-04.html