เหตุใด….การคอรัปชั่นส่วนใหญ่จึงอยู่ในวงการแวดวงราชการ

140
เหตุใด….การคอรัปชั่นส่วนใหญ่จึงอยู่ในวงการแวดวงราชการ
เช้านี้มาแลกเปลี่ยนความรู้ เกี่ยวกับการคอรับชั่นในวงการต่างๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในระบบราชการ เพราะไม่มีเจ้าของที่แท้จริงในความเสียหายที่เกิดขึ้น เผื่อเป็นแนวทางให้กับผู้บริหารรุ่นน้องที่กำลังเติบโตมาแทนและศิษย์ที่จะได้เรียนรู้กันต่อไป
1.รับรู้ร่วมกัน ระหว่างนายและลูกน้อง วิธีการนี้เป็นวิธีการเรียกว่า กินแล้วแบ่ง คือได้รับประโยชน์กันถ้วนทั่ว ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ออกแบบ ผู้ประมูลงาน ผู้ควบคุมงาน ผู้ตรวจรับ ลักษณะนี้หน่วยตรวจสอบ ตรวจได้ยาก ถูกต้องตามระเบียบราชการทุกประการ แต่ของที่ได้จะแพง และที่สำคัญแพงกว่าที่ตาสีตาสาซื้อกันทั่วไปมากมาย
2.เจ้านายรู้ ลูกน้องอาจจะรู้หรือไม่รู้ แต่ไม่กล้าทัดทานนาย เพราะกลัวเจ้านายเล่นงาน เลยพยายามทำให้ถูกต้องในส่วนของตนเอง เพื่อให้ตนเองปลอดภัย วิธีการนี้ เป็นวิธีการกำหนดนโยบายออกมา ว่าจะทำอะไร เสร็จแล้วก็จะมีบริษัทเครือข่ายมาร่วมประมูลงาน ราคาอาจไม่แพงกว่าปกติมากนัก เพราะลูกน้องป้องกันตนเอง เลยพยายามทำให้ตรงระเบียบทุกอย่าง ส่วนเจ้านายจะได้ในรูปแบบของเงินทอนจากบริษัทนั้นในภายหลังอีกที โดยบริษัทจะแบ่งกำไรมาให้ วิธีนี้จะถูกต้องตามระบบราชการทุกอย่าง เขาเรียก กินตามน้ำ หรือกินเงินทอน หรือกินรวบ
3.เจ้านายอาจจะรู้หรือไม่รู้ แต่ลูกน้องรู้ วิธีการนี้เป็นวิธีการชงขึ้นมาจากลูกน้อง ในสิ่งที่ได้ดำเนินการตกลงไว้ล่วงหน้าแล้ว มีการสอบราคาไว้แบบฮั้วกัน อย่างที่เรียกว่า การฮั้วประมูล การซื้อแบบนี้ราชการจะไม่เสียประโยชน์มากนัก เพราะราคาไม่สูงกว่าปกติ แต่ถ้าเจ้านายไม่ทันเกมส์ ก็จะได้ราคาที่สูงกว่าท้องตลาด วิธีการคอรับชั่นแบบนี้ เขาเรียกกินแบบเล็ม เจ้านายบางคนสงสารลูกน้อง ก็อาจจะปล่อยไปบ้าง แต่ต้องไม่ให้งานเสียหายและราคาแพงกว่าราคาปกติทั่วไป
4.การคอรับชั่นแบบผลัดกันเกาหลัง วิธีการนี้นิยมมากในระบบราชการ ในการคัดคนเข้ามาทำงาน คือ ต่างคนต่างเลือกกันเข้ามา ต่างได้ประโยชน์ร่วมกันที่เรียกว่า Win Win Solution ถ้าได้คนดีก็ดีไป แต่ถ้าได้คนไม่ดี จะมีผู้เสียหายหลักคือหน่วยงาน เพราะอาจจะไม่ได้ผู้ที่มีศักยภาพที่แท้จริงเข้ามาทำงาน และผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือประชาชนที่มาใช้บริการ วิธีแบบนี้ส่วนใหญ่คนในองค์กรจะรู้ แต่ไม่กล้าพูด จึงทำให้ไม่มีใครกล้าขัด ยกเว้นจะใช้จริยธรรมของตนเองเป็นผู้ประเมิน
5.การคอรับชั่น ด้วยการติดสินบน เป็นการสัญญาว่าจะให้ วิธีการนี้นิยมในหมู่นักการเมือง เพราะประชาชนจะมีความคาดหวังว่าจะได้ ถ้าได้รับการเลือกตั้ง ก็จะมี 2 แบบ คือ กลับมาทำตามสัญญา กลับไม่ทำอะไรเลย ทำเป็นหูทวนลมกันไป เพราะได้สมประโยชน์ในส่วนตนไปแล้ว
เป็นการสรุปคร่าวๆ จากสิ่งที่เคยพบ อาจจะดูหนักสำหรับเช้านี้ เลยนั่งนึกอยู่นานว่าจะโพสต์ดีหรือไม่ แต่ก็อย่างที่บอกมันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่บรรยายไป
ซึ่งบางอย่างอาจจะมีวิธีการมากกว่านี้ ซึ่งผมก็ยังไม่รู้เหมือนกัน
เครดิต ศ.ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์