คนคอนเรา ใช้หมา มาตักน้ำ
แปลกแต่จริง สิ่งหนึ่ง ซึ่งยังจำ
พ่อเคยทำ ให้ดู รู้วิธี
๐อัน “กาบหมาก” ร่วงหล่น พอค้นหา
เลือกเอามา ตัดแบ่ง แต่งนั่นนี่
แล้วมัดผูก แบบถนัด จัดให้ดี
อีกหนึ่งนี้ ภูมิปัญญา น่าภูมิใจ
๐เรียก “หมาต้อ” ขอแถลง แจ้งให้รู้
มากมายอยู่ กาบหมาก แถวภาคใต้
มลายู เรียก “Timba” ภาษาไทย-
เรียก “หมา”ใช้ ตักน้ำ ตามที่มา
๐หยิบวิธี ก่อนเก่า เอามาเล่า
ล้วนเลือกเอา ความผูกพัน ขั้นศึกษา
นั่งระลึก หันเห เจรจา
จงนึกหา หวนเถิด บ้านเกิดตน
๐ความภูมิใจ ในตน คนคอนศรีฯ
หลายสิ่งดี ประเสริฐ กำเนิดผล
ด้วยใจรัก บทกลอน ขอพรดล
ให้ทุกคน อย่ารู้ร้าง ห่างเมืองนอน…
………………………………………………………………
ทางภาคใต้ ชาวบ้านใช้ภาชนะชนิดหนึ่งมีรูปร่างโค้งครึ่งวงกลมหรือเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ทำจากใบไม้ใช้ตักน้ำ คนใต้เรียกเจ้าสิ่งนี้ว่า “หมาตักน้ำ” คำว่า “หมา” นี้ บางทีก็เรียก ติหมา หรือ ตีหมา ผู้รู้กล่าวว่าไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นคำที่มาจากภาษามลายูคือคำว่า Timba ซึ่งหมายถึงภาชนะตักน้ำ ที่ทำด้วยกาบหมากนั่นเอง
หมาแบบต่าง ๆ นี้ มีชื่อเรียกตามลักษณะของพืชในท้องถิ่นที่นำมาใช้ทำตัวหมา
ถ้าทำมาจากใบจากเรียกว่า “หมาจาก”
ถ้าทำจากต้อหมากหรือกาบหมาก ก็เรียกว่า “หมาต้อ”
ถ้าทำจากกาบต้นเหลาชะโอนก็เรียกว่า “หมาต้อหลาวโอน”