พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) เป็นบุตรเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนู) อุปราชเมืองนครศรีธรรมราช และท่านนิ่ม
เกิดเมื่อวันที่ ๑เดือน ๕ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๒๙ ตรงกับ ร.ศ. ๘๖ และตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๐ ปลายรัชกาลที่ ๔ ภายในจวนผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ท่านได้เริ่มเล่าเรียนหนังสือไทยหนังสือขอมในสำนักครูคง เมืองนครศรีธรรมราช เรียนวิชาเลขไทยในสำนักขุนกำจัดไพริน (เอี่ยม) ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ได้ทำการมงคลตัดจุกและบวชเป็นสามเณรที่วัดพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช แล้วไปอยู่วัดใหม่กาแก้ว ได้ศึกษาทางพระพุทธศาสนาในสำนักพระครูเทพมุนี (แก้ว) ผู้เป็นอุปัชฌาย์ และในสำนักพระครูกาแก้ว เจ้าอธิการวัดใหม่นั้น อุปสมบทหนึ่งพรรษา
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้ถวายตัวเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก (ปัจจุบันโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) มีหมายเลขประจำตัว ๓ ได้ศึกษาวิชาทหารอยู่ในโรงเรียนนายร้อยที่วังสราญรมย์แห่งนี้ จนสำเร็จการศึกษา โดยสอบไล่ได้วิชาชั้นเอกที่ ๑ แล้วเข้ารับราชการแทนตำแหน่งจ่านายสิบในกองนั้น
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรวบรัดสับตรพล ในตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทัพบก และได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพันตรี พ.ศ. ๒๔๔๔ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสุรเดชรณชิต และในปีต่อมาได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายพันโท ในปีนี้มีราชการที่ออกไปจัดการปราบปรามพวกเงี้ยวที่ก่อการจราจลในมณฑลภาค พายัพ และได้จัดตั้งกองทหารขึ้นในมณฑลนี้
พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพันเอก ตำแหน่งปลัดทัพบก และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวรเดชศักดาวุธ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลตรี แล้วไปราชการดูการประลองยุทธ์ ณ ประเทศญี่ปุ่น
ครั้นต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ออกไปไต่สวนระงับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดแพร่ อันเนื่องจากพวกจีนฮ่อในจังหวัดนั้นรวบรวมกันเพื่อจะไปช่วยพวกกบฏในประเทศ จีน ได้ปฏิบัติราชการเป็นที่เรียบร้อยด้วยดี เป็นที่พอพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก
ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เดียวกันนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อมให้รั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลองรับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อมา จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๕ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลโท และใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสีหราชเดโชชัย
ครั้นใน พ.ศ. ๒๔๖๒ โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเลื่อนขึ้นเป็นนายพลเอก ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แล้วเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในปีเดียวกัน (ผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ ๗)
พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต มีสมญาจารึกในหิรัญบัฏว่า เจ้า พระยาบดินทรเดชานุชิต อดิศรมหาสวามิภักดิ์ อุดมศักดิ์เสนาบดี ศรีธรรมราชกุลพงศ์ ดำรงราชวรฤทธิ์ สัตยสถิตย์อาชวาศัย พุทธาทิไตรย์สรณธาดา อภัยพิริยปรากรมพาหุ ดำรงศักดินา ๑๐๐๐๐
พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ได้รับราชการในตำแหน่งหน้าที่เสนาบดีกระทรวงกลาโหมต่อมา จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง เพราะป่วยและสูงอายุ
งานในหน้าที่ราชการพิเศษก็ได้กระทำสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวและประเทศชาติตลอดมา เช่น เป็นราชองครักษ์พิเศษ เป็นองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารรักษาวัง และเป็นเลขาธิการ สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ เป็นต้น
พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) นับเป็นบุคคลตัวอย่างที่มีแบบฉบับในการทำงานที่ดีเด่นผู้หนึ่ง คือตลอดระยะเวลาของการทำงานอันยาวนานทั้งสามรัชกาลไม่เคยปรากฏว่ามีความด่าง พร้อยหรือบกพร่องในหน้าที่การงานเลย เมื่อจะทำงานราชการแต่ละเรื่อง จะต้องมีแผนงานอย่างละเอียดลออ จนได้รับคำชมเชยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อยู่เสมอมา ดังเช่นเมื่อคราวเป็นหัวหน้าคณะนายทหารไปตรวจการ ณ มณฑลพายัพ ได้ถวายรายงานเข้ามายังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งพระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสว่า
“พระยาสุรเดชผู้นี้นับว่าเป็นช้างเผือกในหมู่ทหารคนหนึ่ง แซ่เจ้าพระยานครจะไม่สูญ”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงสรรเสริญท่านไว้ในคำอาลัยในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน ว่า “ท่านอยู่ในราชการเป็นเวลานาน ไม่เคยมีข้อเสียหายประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยพลั้งเผลอ หรือไม่รู้ หรือทุจริต”
ในด้านส่วนตัว พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ท่านเป็นผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูล เป็นผู้เคร่งครัดในกฎระเบียบวินัยเยี่ยงวิสัยทหาร แต่ก็เป็นผู้ที่มีกิริยาวาจาที่นุ่มนวล เป็นประมุขแห่งบ้านมหาโยธิน อันเปรียบเสมือนไม้ใหญ่ที่คอยให้ที่พักพิงแก่บรรดาญาติพี่น้องลูกหลานตราบจน สิ้นอายุขัย เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๔
และที่สำคัญคือ ท่านเป็นผู้ขอพระราชทานนามสกุล “ณ นคร” อันเป็นตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งที่สืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงในปัจจุบันนี้
หลักฐานวันเดือนปีเกิด
พิมพ์ในการพระราชเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์
วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕
พิมพ์ที่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ไทยวัฒนาพานิช (แผนกการพิมพ์)
วันที่ ๒๘ เมษยน พ.ศ. ๒๔๖๔
ขอพระราชทานกราบทูล มหาอำมาตย์นายก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทราบฝ่าพระบาท
ตาม ที่มีรับสั่งแก่ข้าพระพุทธเจ้า มีพระประสงค์จะทรงทราบวันเกิดและดวงของท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีและของข้า พระพุทธเจ้านั้น วันเกิดของท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบละเอียด จึงได้ขอให้พระยานครกุลเชฐตรวจมาให้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานจดถวายมาในท้ายหนังสือนี้แล้ว
พระยาสีหราชเดโชไชย
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร)
จางวางเมืองนครศรีธรรมราช เกิดวัน ๔ ๑ฯ ๔ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จ.ศ. ๑๒๐๔ (ตรงกับวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๕) เวลา ๑๑ ก.ท. ถึงอสัญกรรมวันที่ ๒ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๖ พ.ศ. ๒๔๕๐ อายุ ๖๕ ปี |
||
พระยาสีหราชเดโชชัย (แย้ม ณ นคร)
เกิดวัน ๑ ฯ๒ ๕ ค่ำ ปีเถาะ นพศก จ.ศ. ๑๒๒๙ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๐) เวลาใน ๗ ก.ท. |
ศาลาว่าการต่างประเทศ
วันที่ ๒๘ เม.ย. ๖๔
เจ้าคุณสีหราชเดโชไชย
ด้วยได้รับจดหมายของเจ้าคุณลงวันนี้ จดดวงชาตาเจ้าคุณสุธรรมมนตรีกับของเจ้าคุณไปให้ข้าพเจ้าดังประสงค์ของ ข้าพเจ้านั้น ขอบใจเจ้าคุณเป็นอันมาก
ข้าพเจ้าตรวจสอบดูได้ความว่าวัน ๔ ฯ ๔ ค่ำ ปีขาล จ.ศ. ๑๒๐๔ พ.ศ. ๒๓๘๕ นั้น ตรงกับวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๓ และวัน ๑ ๒ ๕ ค่ำ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๒๒๙ พ.ศ. ๒๔๑๐ นั้น ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน ค.ศ. ๑๘๖๗ ดังนี้
จึงแจ้งมาให้คุณทราบ
ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถือมาอีกด้วย
เทวะวงศ์วโรปการ
พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม)
จากหนังสือบันทึกประวัติพลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร)
พิมพ์ในการพระราชเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์
วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕
พิมพ์ที่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ไทยวัฒนาพานิช (แผนกการพิมพ์)
ลงพิมพ์ในหนังสือยุทธโกษ เล่ม ๑ แผ่นที่ ๔๔ หน้า ๓๕๒ ตอนนั้นท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ดำรงตำแหน่งนายเวรคำสั่ง กรมปลัดทัพบกใหญ่กรมยุทธนาธิการ ประวัตินี้ท่านเป็นผู้เขียนเอง
(ปวัติ ที่ ๑๖ ของนายเวรคำสั่งซึ่งกล่าวในยุทธโกษ เล่ม ๑ แผ่นที่ ๔๔ น่า ๓๕๒ ว่าไปราชการ จะได้แสดงปวัติสืบต่อไปภายหลังนั้น บัดนี้ได้กลับแล้วแลได้มาพิมพ์ลงเป็นลำดับในที่นี้)
นายร้อยเอกแย้ม นายเวรคำสั่งกรมปลัดทหารบกใหญ่กรมยุทธนาธิการ
เกิดเมื่อวันที่ ๑ เดือน ๕ ปีเถาะนพศก จุลศักราช ๑๒๒๙ ตรงกับ ร.ศ. ๘๖ (พ.ศ. ๒๔๑๐) ที่เมืองนครศรีธรรมราช ที่บ้านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พร้อม) ผู้เป็นบิดา แลได้เล่าเรียนหนังสือไทยหนังสือขอม ในสำนักครูคงเมืองนครศรีธรรมราช เรียนวิชาเลขไทยในสำนักขุนกำจัดไพริน (เอี่ยม) ที่กรุงเทพ ฯ
เมื่อ ร.ศ. ๙๘ (พ.ศ. ๒๔๒๒) อายุ ๑๓ ปี ได้ทำการมงคลตัดจุก แลบวชเป็นสามเณรที่วัดพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช แล้วไปอยู่วัดใหม่กาแก้ว ได้ศึกษาทางพระพุทธสาสน์ในสำนักพระครูเทพมุนี (แก้ว) ผู้เป็นอุปัชฌาย์ และในสำนักพระครูกาแก้ว (แก้ว) เจ้าอธิการวัดใหม่นั้นบวชอยู่พรรษาหนึ่ง
ครั้ง ร.ศ. ๙๙ (พ.ศ. ๒๔๒๓) เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ (ช่วง บุนนาค) ออกไปเมืองนครศรีธรรมราช ได้ขอต่อบิดาพาเข้ามารับราชการอยู่ในท่านที่กรุงเทพ ฯ ครั้นต่อมาเข้ารับราชการอยู่ในท่านเจ้าพระยาสุรวงษไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) และเป็นนักเรียนไปในเรือรบหลวง (สุริยะมณฑล) ซึ่งออกไปลาดตระเวนตามหัวเมืองชายทะเลตะวันตกครั้งหนึ่ง
ร.ศ. ๑๐๗ (พ.ศ. ๒๔๓๑) ได้ถวายตัวเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก มีหมายเลขประจำตัว ๓ (ปัจจุบันโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) ศึกษาวิชาทหารอยู่ในกองโรงเรียนนายร้อย ที่วังสราญรมย์ สอบไล่วิชาได้ชั้นเอกที่ ๑ แล้ว ได้รับราชการแทนตำแหน่งจ่านายสิบในกองนั้น
ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) ได้เลื่อนยศทหารขึ้นว่านายร้อยตรีรับตำแหน่งเกียกกาย กองโรงเรียนนายร้อย แล้วได้ช่วยทำการในหน้าที่ปลัดกองการโต้ตอบด้วยบ้างเป็นส่วนพิเศษ แลในเวลาที่รับราชการอยู่ในกองโรงเรียนนายร้อย ผู้บังคับการได้ยื่นรายงานในราชการว่าเป็นผู้ได้ราชการดีเรียบร้อย
ครั้นเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) ได้เลื่อนตำแหน่งยศทหารขึ้นว่าที่นายร้อยเอก รับตำแหน่งนายเวรคำสั่ง กรมปลัดทหารบกใหญ่กรมยุทธนาธิการ
ครั้น ณ เดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็นร้อยเอกในกรมทหารบก คงรับราชการตามตำแหน่งเดิม
ครั้นเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รับตำแหน่งปลัดกอง ๆ พันโทในกองพันโทพระศรีณรงค์วิไชย รองปลัดทหารบกใหญ่ ซึ่งบัดนี้ได้ว่าที่นายพันเอก เป็นกองพิเศษคุมเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ไปในราชการฝึกหัดทหาร แลราชการสงครามป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตทางมณฑลาวกาวได้ไปรับราชการฝึกหัด ลาวเขมรเป็นทหาร ตามหน้าที่ปลัดกองตั้งอยู่เมืองอุบลราชธานี แล้วได้ยกกองลงไปพร้อมกับผู้บังคับการตั้งค่ายอยู่สีทันดรลำแม่น้ำโขงประชิด กับข้าศึก กองหน้าได้ใช้อาวุธต่อสู้แล้ว
ครั้นเสร็จจาราชการสงคราม ยกกลับมาตั้งพักรักษาราชการอยู่เมืองอุบลราชธานี แลในส่วนที่ไปรับราชการครั้งนี้ ผู้บังคับการได้ส่งรายงานในราชการว่าเป็นผู้ได้ราชการชั้นเอก
ครั้นเดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) กองทัพกลับกรุงเทพ ฯ ได้เข้ารับราชการตำแหน่งนายเวรคำสั่งกรมปลัดทหารบกใหญ่กรมยุทธนาธิการตาม ตำแหน่งเดิม ได้รับพระราชทานเหรียญรัชฎาภิเศก ในการพระราชพิธีรัชฎาภิเศก คงรับราชการตามตำแหน่ง
สำเนาประวัติของ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรชานุชิต
๑. ชื่อเดิม แย้ม ชื่อสกุล ณ นคร
๒. เกิด ณ วันที่ 1 ฯ25 ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2410
๓. ชื่อบิดามารดา เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พร้อม) อุปราชเมืองนครศรีธรรมราช และท่านนิ่ม
๔. แรกเข้ารับราชการ เป็นนักเรียนนายร้อยคนที่ ๓ ในโรงเรียนนายร้อยทหารบก (ปัจจุบันโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)
๕. ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร
๑ ธันวาคม ๒๔๓๒ เป็น ร้อยตรี
๑๓ ตุลาคม ๒๔๓๕ เป็น ร้อยเอก
๑๗ พฤษภาคม ๒๔๔๓ เป็น พันตรี
๑๔ พฤษภาคม ๒๔๔๕ เป็น พันโท
๑๖ กรกฎาคม ๒๔๔๖ เป็น พันเอก
๑๒ มิถุนายน ๒๔๔๘ เป็น พลตรี
๑๑ เมษายน ๒๔๕๕ เป็น พลโท
๑ เมษายน ๒๔๖๒ เป็น พลเอก
๖. ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพลเรือน
๕ ธันวาคม ๒๔๔๐ เป็น หลวงรวบรัดสปัตรพล
๒๐ กันยายน ๒๔๔๔ เป็น พระสุรเดชรณชิต
๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๔๖ เป็น พระยาวรเดชศักดาวุธ
๑๘ มิถุนายน ๒๔๕๖ เป็น พระยาสีหราชเดโชไชย อภัยพริยปรากรมพาหุ
๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๕ เป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ฯลฯ
๗. ได้รับยศเสือป่า
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๖ เป็น นายกองตรี แต่งตัวสังกัดกรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์
๘. ตำแหน่ง
– มีนาคม ๒๔๓๑ เป็น นักเรียนนายร้อย
– ธันวาคม ๒๔๓๒ เป็น เกียกกายกองโรงเรียนนายร้อย
– เมษายน ๒๔๓๕ เป็น นายเวรคำสั่งกรมปลัดทหารบกปืนใหญ่
– เมษายน ๒๔๓๖ เป็น ปลัดกอง กองทหารพิเศษเข้าสังกัดกรมทหารบกราบที่ ๔ (ทหารหน้า) ชั่วคราว รักษาเขตแดนมณฑลอุบลราชธานี
๒๐ กรกฎาคม ๒๔๔๒ เป็น ผู้ช่วยปลัดทัพบก
– สิงหาคม ๒๔๔๖ เป็น ปลัดทัพบก
๑๗ ธันวาคม ๒๔๕๓ เป็น ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม
๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๔ เป็น ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
๑ เมษยน ๒๔๖๕ เป็น เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
๑ สิงหาคม ๒๔๖๙ เป็น ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เพราะป่วย เข้าอยู่ในประเภทนายทหารนอกราชการ รับบำนาญสังกัดกรมปลัดทหารบก
๑ สิงหาคม ๒๔๗๕ เป็น เปลี่ยนเป็นนายทหารนอกราชการ สังกัดกองบังคับการกระทรวงกลาโหม
๑ เมษายน ๒๔๗๖ เป็น ย้ายประเภทเป็นนายทหารพ้นราชการ เพราะอายุพ้นกำหนดนายทหารนอกราชการแล้ว
๙. เงินเดือน เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ
– มีนาคม ๒๔๓๑ รับเงินเดือน ๆ ละ ๑๒ บาท
๑ ธันวาคม ๒๔๓๒ รับเงินเดือน ๆ ละ ๔๘ บาท
– ๒๔๓๕ รับเงินเดือน ๆ ละ ๗๐ บาท
๒๐ กรกฎาคม ๒๔๔๒ รับเงินเดือน ๆ ละ ๑๖๐ บาท
– เมษายน ๒๔๔๕ รับเงินเดือนอัตรา พันเอก ชั้น ๓
– เมษายน ๒๔๔๖ รับเงินเดือนอัตรา พลตรี ชั้น ๓
– พฤษภาคม ๒๔๔๘ รับเงินเดือนอัตรา พลตรี ชั้น ๒
– เมษายน ๒๔๕๐ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เพิ่มอีกเดือนละ ๕๐ บาท
– เมษายน ๒๔๕๑ รับเงินเดือนอัตรา พลตรี ชั้น ๑
– เมษายน ๒๔๕๔ รับเงินเดือนอัตรา พลโท ชั้น ๓
– เมษายน ๒๔๕๗ รับเงินเดือนอัตรา พลโท ชั้น ๒
– เมษายน ๒๔๖๐ รับเงินเดือนอัตรา พลโท ชั้น ๑ เดือนละ ๑,๖๐๐ บาท
– เมษายน ๒๔๖๒ รับเงินเดือนอัตรา พลเอก ชั้น ๓ เดือนละ ๒,๐๐๐ บาท
๑ เมษายน ๒๔๖๕ รับเงินเดือน ๆ ละ ๒,๑๐๐ บาท
๑ เมษายน ๒๔๖๖ รับเงินเดือน ๆ ละ ๒,๒๐๐ บาท
๑ เมษายน ๒๔๖๗ รับเงินเดือน ๆ ละ ๒,๓๐๐ บาท
๑ เมษายน ๒๔๖๘ รับเงินเดือน ๆ ละ ๒,๔๐๐ บาท
๑ สิงหาคม ๒๔๖๙ เริ่มรับเงินบำนาญ
๑๐. ตำแหน่งหรือราชการพิเศษ
๑๕ ธันวาคม ๒๔๔๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นหัวหน้าออกไปตรวจการที่ภาคพายัพ ในคราวจัดการปราบเงี้ยวที่ก่อนการจลาจล และตรวจการที่จัดตั้งกองทหารในภาคนี้ต่อไป
– ตุลาคม ๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ออกไปดูการประลองยุทธ์ใหญ่ที่ญี่ปุ่น ตามที่ประเทศญี่ปุ่นเชิญนายทหารต่างประเทศไปในการนี้
๒๔ มิถุนายน ๒๔๕๓ ทรงกระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ไปไต่สวนพวกจีนที่จังหวัดแพร่ ซึ่งรวบรวมกันทำการจะไปช่วยพวกกบฏในประเทศจีน และซึ่งในขณะนั้นยังไม่ทราบความประสงค์ของพวกนั้น
๑๔ มกราคม ๒๔๕๓ เป็นราชองครักษ์เวร
๒๒ เมษายน ๒๔๕๕ คงเป็นราชองครักษ์เวรสืบต่อไป
๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๕๖ เป็นราชองค์รักษ์พิเศษ
๔ เมษายน ๒๔๕๘ เป็นองคมนตรี
– พฤศจิกายน ๒๔๕๘ เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารรักษาวัง
๔ เมษายน ๒๔๖๙ เป็นองคมนตรี
๑๑. ราชการทัพ
– เมษายน ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ไปรับตำแหน่งปลัดกองกองทหารพิเศษรักษาเขตแดนมณฑลอุบลราชธานี ไปตั้งค่ายที่สีทันดร แม่น้ำโขง ประชิดกับข้าศึก กองหน้าออกต่อสู้ถึงใช้อาวุธแล้ว
๑๒. ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญ (ประเทศไทย)
– ตุลาคม ๒๔๓๖ เหรียญรัชฎาภิเษกมาลา
– พฤศจิกายน ๒๔๓๙ ตราภัทราภรณ์มงกุฎสยาม ชั้น ๔ (จตุรถาภรณ์มงกุฎไทย)
– มกราคม ๒๔๔๐ เหรียญประพาสมาลา
– ธันวาคม ๒๔๔๔ ตราภูษณาภรณ์ช้างเผือก ชั้น ๔ (จตุรถาภรณ์ช้างเผือก)
– กันยายน ๒๔๔๖ ตรามัณฑนาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้น ๓ (ตริตาภรณ์มงกุฎไทย)
– ตุลาคม ๒๔๔๖ เหรียญทวีธาภิเษก (ทอง)
– พฤศจิกายน ๒๔๔๖ เหรียญจักรมาลา
– กันยายน ๒๔๔๐ ตรานิภาภรณ์ช้างเผือก ชั้น ๓ (ตริตาภรณ์ช้างเผือก)
– พฤศจิกายน ๒๔๕๑ เหรียญรัชมังคลาภิเษก (ทอง)
– มีนาคม ๒๔๕๒ เข็มพระชนมายุสมงคล ชั้นที่ ๓
– มีนาคม ๒๔๕๓ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๓
– ธันวาคม ๒๔๕๔ เหรียญบรมราชาภิเษก (ทอง)
– ธันวาคม ๒๔๕๔ เข็มอัยราพต
– มกราคม ๒๔๕๔ ตราจุลสุราภรณ์มงกุฎสยาม ชั้น ๒ (ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย)
– พฤศจิกายน ๒๔๕๕ ตราทุติยจุลจอมเกล้า
– มกราคม ๒๔๕๕ ตรามหาสุราภรณ์มงกุฎสยาม ชั้น ๑ (ประถมาภรณ์มงกุฎไทย)
– พฤศจิกายน ๒๔๕๖ ตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
– ธันวาคม ๒๔๕๖ ตรามหาวราภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๑ (มหาปรามาภรณ์ช้างเผือก)
– ธันวาคม ๒๔๖๐ ตรารัตนวราภรณ์
– กรกฎาคม ๒๔๖๑ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ ๒ (รามาธิบดีชั้นที่ ๒ มหาโยธิน)
– พฤศจิกายน ๒๔๖๔ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๒
– พฤศจิกายน ๒๔๖๕ ตราปฐมจุลจอมเกล้า
– กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘ เหรียญบรมราชาภิเษก (ทอง) รัชกาลที่ ๗
– ธันวาคม ๒๔๖๙ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๗ ชั้นที่ ๓
– พฤษภาคม ๒๔๙๓ เหรียญบรมราชาภิเษก (ทอง) รัชกาลที่ ๙
– กรกฎาคม ๒๔๙๗ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๙ ชั้นที่ ๒
๑๓. ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
– กุมภาพันธ์ ๒๔๕๒ ตราคอมมานเดอร์ครอส ชั้นที่ ๑ (บรันซวิก) ของประเทศเยอรมนี
– ธันวาคม ๒๔๖๔ ตรากรังด์-ออฟฟิสเย “แห่งตราสำหรับชาติเลยิออง-ดองเนอร์” ของประเทศฝรั่งเศส
รวมความว่าในรัชกาลที่ ๕ นั้น ท่านได้รับยศทหารเป็นร้อยตรีเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๒
ร้อยเอกเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๕
พันตรีเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓
เป็นพันโทเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๕
เป็นพันเอกเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๖
และเป็นพลตรีเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๘
ส่วนบรรดาศักดิ์นั้นได้รับในรัชกาลที่ ๕ เป็นหลวงรวบรัดสบัตรพล เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๐
เป็นพระสุรเดชรณชิต เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๔
และเป็นพระยาวรเดชศักดาวุธ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๖
เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ท่านได้รับตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๕๓ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๕๕ ได้เลื่อนยศทหารเป็นพลโทและได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาสีหราชเดโชไชย อภัยพิริยปรากรมพาหุ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๕๖ ต่อมาวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๒ ได้รับยศทหารเป็น “พลเอก” ส่วนตำแหน่งสำคัญนั้นได้เป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเมื่อวัน ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๔ ดังประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งดังต่อไปนี้
ประกาศ
ตั้งผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ดำรัสสั่งว่า ในกาลที่จอมพลเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ถึงอสัญกรรมตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหมว่างลง จำเป็นจะต้องมีผู้ทากรแทนโดยทันที จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ นายพลเอก พระยาสีหราชเดโชไชย เป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔
ประกาศมา ณ วันที่ ๒๕ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ 12 ในรัชกาลปัตยุบันนี้
ต่อมาประมาณเกือบ ๘ เดือน ท่านจึงได้เป็นตัวเสนาบดีกระทรวงกระลาโหมเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๕ ดังประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหมดังต่อไปนี้
ประกาศ
ตั้งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม
มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า นายพลเอก พระยาสีหราชเดโชไชย ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณในตำแหน่งผู้รั้งเสนาบดีกระทรงวงกระลาโหมมา ด้วยความเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัยสมควรจะเป็นเสนาบดีได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายพลเอก พระยาสีหราชเดโชไชย เป็นเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม แต่วันที่ ๑ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ เป็นต้นไป
พระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ณ วันที่ ๒๘ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ปีเดียวกันนั้นเอง ในวันที่ ๑๑ เดือนพฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพลเอก พระยาสีหราชเดโชไชยขึ้นเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ฯ ดังคำประกาศแต่งตั้ง พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต มีข้อความดังต่อไปนี้
“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๖๕ ปัตยุบันกาล โสณสังวัจฉร พฤศจิกายนมาส เอกาทศมสุรทิน โสรวารโดยกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรามหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิกโรตมจาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนารถจุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฎนเรนสูรสันตติวงษวิสิษฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอติเรก บุญฤทธิ์ธัญลักษณวิจิต โสภาคสรรพางค์ มหาชโนตตะมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทวศรานุรักษ์ บุริมศักดิ์สมญาเทพทวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิการรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชามัทวสมาจาร บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันตามหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศรินทรบรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหตมบรมราชสมบัตินพปฎลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริวัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย์ พุทธาธิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิอัครรนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนารถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริว่า นายพลเอก พระยาสีหราชเดโชโชย เป็นเหล่ากอของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ผู้มีความสวามิศักดิ์มาแต่เดิม แรกได้เข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก ครั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จึงได้เป็นนายทหารรับราชการทหารบก ในปีพระพุทธศักราช ๒๔๓๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีมีตำแหน่งประจำการในโรงเรียนนายร้อยทหารบก ถึงปีพระพุทธศักราช ๒๔๓๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นนายร้อยเอก ตำแหน่งนายเวรคำสั่งกรมปลัดทัพบกใหญ่ แลในปีพระพุทธศักราช ๒๔๓๖ ได้เข้าสังกัดกรมทหารบกราบที่ ๔ ตำแหน่งปลัดกองในกองทหารพิเศษ ออกไปรักษาเขตแดนทางมณฑลอุบลราชธานี ตั้งค่ายอยู่ที่สีทันดรลำแม่น้ำโขง พระยาสีหราชเดโชไชยรับราชการในหน้าที่ด้วยความอุตสาหะมิได้ย่อหย่อน รักษาราชการในหน้าที่เรียบร้อยจนเสร็จราชการแล้ว จึงกลับเข้ารับราชการในกรมปลัดทัพบกใหญ่ ตำแหน่งนายเวรตามเดิม
เมื่อปีพระพุทธศักราช ๒๔๔๐ เป็นหลวงรวบรัดสับตรพล ปีพระพุทธศักราช ๒๔๔๒ ได้รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทัพบก แลได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพันตรี ปีพระพุทธศักราช ๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศบรรดาศักดิ์เป็นพระสุรเดชรณชิต ปีพระพุทธศักราช ๒๔๔๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายพันโท แลในปีนี้มีราชการที่ออกไปจัดการปราบปรามพวกเงี้ยว ซึ่งก่อการจลาจลขึ้นในมณฑลภาคพายัพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสีหราชเดโชโชยเป็นหัวหน้าออกไปตรวจการยังมณฑลภาคพายัพ แลในคราวนั้นได้ตรวจจัดการตั้งกองทหารขึ้นในมณฑลภาคพายัพนั้นด้วย พระยาสีหราชเดโชไชยก็ได้อุตสาหะรับราชการด้วยความปรีชาสามารถ ได้ราชการดีเป็นอันมาก
ในปีพระพุทธศักราช ๒๔๔๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพันเอก ตำแหน่งปลัดทัพบก แลพระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นพระยาวรเดชศักดาวุธ ถึงปีพระพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลตรี แล้วไปราชการดูการประลองยุทธประเทศญี่ปุ่น ครั้นเมื่อต้นปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสีหราชเดโชไชยออกไปไต่สวนระงับเหตุการณ์ ซึ่งพวกจีนที่จังหวัดแพร่รวบรวมกันทำการเพื่อจะไปช่วยพวกขบถในประเทศจีนอีก คราวหนึ่ง อาศัยความปรีชาสามารถและพิริยะอุตสาหะของพระยาสีหราชเดโชไชย ตั้งใจปฏิบัติราชการต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยได้ราชการดี จึงเป็นที่พอพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนตลอดรัชกาล
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ในปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๓ นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสีหราชเดโชไชย แต่เมื่อยังมีบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาวรเดชศักดาวุธ เป็นปลัดทูลฉลองรับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อมา จนถึงปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๕ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศเลื่อนขึ้นเป็นนายพลโท และในปีพระพุทธศักราช ๒๔๖๒ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาสีหราชเดโชไชย และในปีพระพุทธศักราช ๒๔๖๒ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงหลาโหมว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสีหราชเดโชไชยเป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แล้วเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในปีนั้น
ตามที่พระยาสีหราชเดโชไชยได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาในกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อยเป็นลำดับมาจนถึงได้เป็นตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงกลาโหมนี้ย่อมเป็นพยานปรากฎว่า พระยาสีหราชเดโชไชยมีความสามารถทั้งมีความชำนาญรอบรู้ในราชกิจน้อยใหญ่ ปฏิบัติราชการด้วยความปรีชา ใช้สติปัญญาโดยรอบคอบ ประกอบด้วยความอุตสาหะพิริยภาพเป็นอันมาก ส่วนราชการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ก็ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นราชองครักษ์เวร แล้วเป็นราชองครักษ์พิเศษและเป็นองคมนตรี เมื่อปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๘ ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารรักษาวัง (ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และเป็นเลขาธิการสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีนั้นด้วย พระยาสีหราชเดโชไชยเป็นผู้ที่ได้ทรงคุ้นเคย ต้องพระราชอัธยาศัยมาช้านาน ทรงตระหนักชัดในความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทโดยมั่นคง ทั้งมีความประพฤติดำรงตนอยู่ในฐานะอันควรแก่ฐานันดรศักดิ์ ที่ทรงพระกรุณาชุบเกล้า ฯ แต่งตั้งไว้ บัดนี้ก็ได้รับราชการในหน้าที่เสนาบดีอันเป็นตำแหน่งสูงอยู่แล้ว สมควรจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ยกย่องให้มีเกียรติยศใหญ่ยิ่งขึ้น
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้สถาปนาพระยาสีหราชเดโชไชย ขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในหิรัญบัฎว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต อดิศรมหาสนวามิภักดิ์ อุดมศักดิ์เสนาบดี ศรีธรรมราชกุลพงศ์ ดำรงราชวรฤทธิ์ สัตยสถิตย์อาชวาศัย พุทธาทิไตรย์สรณธาดา อภัยพิริยบรากรมพาหุ มุสิกนาม ดำรงศักดินา ๑๐๐๐๐ จงเจริญ ทฤฆชนมายุพรรณ สุข พล สิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติ บริวารสมบูรณ์ทุกประการเทอญ”
ท่านเป็นเจ้าพระยาเมื่ออายุได้ ๕๕ ปี
พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมต่อมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ และต้นรัชกาลที่ ๗ ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมต่อมาจนถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๖๙ ในรัชกาลที่ ๗ ท่านจึงได้ขอพระราชทานกราบถวาบยบังคมลาออกจากตแหน่งเสนาบดีกระทรงกลาโหม เพราะป่วย ชีวิตราชการของพลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตก็ได้สุดสิ้นลงแต่เพียงนี้ ท่านจึงเป็นนายทหารนอกราชการรับพระราชทานบำนาญสังกัดกรมปลัดทหารบกตั้งแต่ นั้นมา ส่วนเสนาบดีกระทรวงกลาโหมมานั้นจอมพลเรือ จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงรับตำแหน่งสืบมา
ชีวิตครอบครัว
พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมได้สร้างคุณงามความดีไว้แก่ราชการกระทรวงกลาโหม เป็นมาก ส่วนชีวิต ส่วนสกุลวงศ์นั้นเล่า ท่านได้ทากรสมรสกับท่านผู้หญิงเลียบ ธิดาหลวงสุนทรสินธพ (จอ ปัจฉิม) เจ้ากรมม้าแซงนอกซ้าย และนางจาด สุนทรสินธพ เป็นมารดา ท่านผู้หญิงเลียบ บดินทรเดชานุชิต ท.จ. เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนแปด ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ที่บ้านถนนพาหุรัด บ้านหม้อ จังหวัดพระนคร ท่านผู้หญิงเลียบ บดินทรเดชานุชิต มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคือ
๑. นายพร้อม ปัจฉิม
๒. นายยิ้ม ปัจฉิม
๓. คุณหญิงจีบ นครกุลเชษฐ
๔. ท่านผู้หญิงเลียบ บดินทรเดชานุชิต
๕. คุณหญิงหว่าง บำเรอบริรักษ์
๖. นางเฉลิม ภูเบนทรสิงนาท
ท่านผู้หญิงเลียบ บดินทรเดชานุชิต ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๙๘ เวลา ๐๘.๑๐ น. ที่บ้านมหาโยธิน เลขที่ ๑๐๗ ถนนวิทยุ พระนคร อายุ ๘๘ ปี ๖ เดือน มีบุตรธิดา คือ
๑. ญ. ลาภ ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก
๒. ช. หยิบ รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าสืบตระกูลได้ทำการสมรสกับคุณประนอม ธิดาเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
๓. ญ. พยุง สมรสกับนายเสน่ห์ ณ นคร
๔. ญ. โพยม สมรสกับท่านพลตรีพระยาเสนณรงค์ฤทธิ์ (ม.ล. เล็ก สนิทวงศ์)
ชีวิตราชการ
ต่อมาเมื่อได้เป็นนายพันโท เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๔๕ ตอนเป็นนายพันโท พระสุรเดชรณชิต ตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทัพบกนี้ ปรากฏเกียรติคุณในทางราชการทหารมณฑลพายัพหลายประการ กล่าวคือ ท่านได้ไปราชการพิเศษเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๔๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านเป็นหัวหน้าออกไปตรวจการที่ภาพพายัพในคราวจัดการปราบเงี้ยวที่ก่อการ จลาจล และตรวจการที่จะจัดตั้งกองทหารในภาพพายัพต่อไป เกียรติคุณของท่านครั้งนั้นมีปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีไปพระราชทาน จอมพลกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เกี่ยวกับเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น พระสุรเดชรณชิต) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของท่านดังต่อไปนี้
(ฉบับที่ 1) สินทรศก
ที่ 99/1705 พระที่นั่งวิมานเมฆ
วันที่ 5 ธันวาคม รัตนโกสินทร ศก35 121
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยจดหมายที่ 53/8823 ลงวันวานนี้ ส่งสำเนาหนังสือที่มีไปยังกระทรวงมหาดไทยแลถึงเจ้าพระยาสุรศักดิ์ พระยาอนุชิต ในการที่จะให้พระสุรเดชรณชิตไปราชการมณฑลพายัพมานั้น ได้รับทราบแล้ว หนังสือที่มีไปนั้นดีแล้ว
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 2)
ที่ 111/1942 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 8 มกราคม รัตนโกสินทร ศก35 121
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยจดหมายที่ 165/9889 ลงวันที่ 6 เดือนนี้ ส่งรายงานนายพันโทพระสุรเดชรณชิต ซึ่งขึ้นไปตรวจทางแลการมณฑลพายัพ แลบอกเรื่องเกณฑ์คนแลจัดเสบียงในมณฑลนครสวรรค์ด้วยนั้น ได้ตรวจดูแล้วเห็นว่าพระสุรเดชเป็นคนมีความคิด
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 3)
ที่ 112/1975 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 13 มกราคม รัตนโกสินทร ศก35 121
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รับหนังสือที่ 167/10195 ลงวันวานนี้ ส่งโทรเลขนายพันโทพระสุรเดชรณชิตบอกเรื่องน้ำแห้งตั้งแต่พ้นเมืองพิไชยไป ได้มีโทรเลขสั่งนายพันโทพระยารามกำแหง ให้ขึ้นเดินที่เมืองพิจิตรไปเมืองแพร่ แลว่าได้บอกไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ทราบด้วยนั้นดีแล้ว
(พระ บรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 4)
ที่ 114/2088 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 27 มกราคม รัตนโกสินทร ศก35 121
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รับหนังสือที่ 172/10730 ลงวันวานนี้ นำส่งรายงานพระสุรเดชรณชิต ครั้งที่ 2 ซึ่งขึ้นไปตรวจทางแลการมณฑลพายัพนั้น ได้ตรวจดูแล้ว รายงานนี้แต่งดี มาก
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 5)
ที่ 117/2296 สวนดุสิต
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร ศก35 121
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยจดหมายที่ 177/11796 ลงวันวานนี้ นำส่งรายงานนายพันโทพระสุรเดชรณชิต ซึ่งได้ไปตรวจทางแลการมณฑลพายัพนั้น ได้อ่านตลอดแล้ว เห็นว่าพระสุรเดชสังเกตการดีมาก น่าจะฟังรายงานเมื่อถึงเมืองน่านอีกครั้งหนึ่งก่อน จึงค่อยคิด จัดการ
(พระ บรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 6)
ที่ 3/56 สวนดุสิต
วันที่ 9 เมษยน รัตนโกสินทร ศก36 122
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รับหนังสือที่ 2/215 ลงวันที่ 7 เดือนนี้ ส่งรายงานรายงานครั้งที่ 8 นายพันโทพระสุรเดชรณชิต ซึ่งไปตรวจทางแลตรวจการมณฑลพายัพเป็นที่ 9 แลบาญชีรูปถ่ายครั้งที่ 1 หมายเลข 56 ลักษณะระยะทางตอนที่ 1 หมายเลข 57 ตำนานพระธาตุช่อแฮเมืองแพร่ หมายเลข 58 สำเนาโทรเลข 5 ฉบับมานั้นได้อ่านตลอดแล้วเป็นที่พอใจในการตรวจตราของพระสุรเดชเป็นอันมาก แต่จำจะต้องต่อว่าในการที่ไม่ส่งโทรเลขเข้ามาให้ดู จนพึ่งได้มาเห็นสำเนาที่เขาส่งกับหนังสือฉบับที่ 14 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ อธิบายเรื่องผู้ร้ายตีขุนน่าน ซึ่งมหาดไทยสอบถามเหตุผลไม่ได้ความอยู่จนเดี๋ยวนี้ แลออกความเห็นเรื่องคิดปราบผู้ร้ายเป็นอย่างดีลอดช่องมาทีเดียว ถ้าได้เห็นแต่ในเวลาที่ได้รับโทรเลข ป่านนี้จะได้จัดการเสียแล้ว พระสุรเดชนับว่าเป็นช้างเผือกในทหารคนหนึ่ง แซ่เจ้าพระยานครจะไม่สูญ
(พระ บรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 7)
ที่ 4/67 สวนดุสิต
วันที่ 11 เมษายน รัตนโกสินทร ศก36 122
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รับหนังสือที่ 3/472 ลงวันวานนี้ ตอบเรื่องโทรเลขพระสุรเดชรณชิต ซึ่งไม่ได้ส่งมาจนสำเนามาถึงกับรายงาน ว่าเป็นโทรเลขลับใช้กุญแจอย่างพิสดาร ต้องสอบถามทบทวนกัน ไม่ได้ความพอนั้นทราบแล้ว
เข้าใจว่าคงจะเป็นโทรเลข ลับ จึงไม่ได้คัดสำเนาโทรเลขทั้งปวงส่งไปให้มหาดไทย แต่ไม่คาดว่าจะไม่เข้าใจกัน แต่เรื่องโทรเลขโค้ดไม่เข้าใจกันอยู่ข้างจะร้าย ควรจะต้องคิดอ่านจัดการเป็นแต่เฉพาะกรมยุทธนาธิการกับนายทหารเสียแบบ 1 อย่าให้ยากมากนักได้จะดี
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 8)
ที่ 11/200 สวนดุสิต
วันที่ 29 เมษายน รัตนโกสินทร ศก36 122
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ได้รับหนังสือที่ 11/1073 ลงวันวานนี้ ส่งรายงานนายพันโทพระสุรเดชรณชิต ซึ่งเป็นรายงานครั้งที่ 12 ไปตรวจทางแลตรวจการมณฑลพายัพ 1 ฉบับแลบาญชีรูปถ่ายครั้งที่ 2 หนึ่งฉบับ รูป 90 รูป รายงานบาญชีลักษณะระยะทางตอนที่ 2 จากเมืองแพร่ถึงเมืองน่าน 1 ฉบับ กับสำเนาหนังสือถึงแม่ทัพใหญ่เมืองแพร่ 2 ฉบับ แผนที่ 5 ฉบับนั้น ได้รับทราบแล้ว ได้เอารูปนี้ไว้อย่างละอันเพราะเหตุว่า เจ้าพระยาสุรศักดิ์ไม่ได้ขึ้นไปถึงจึงไม่ได้มีรูปเหล่านี้ ต้องการไว้เพื่อจะได้แสดงให้เห็นที่ซึ่งจะต้องพูดจากันในราชการ เช่นเรื่องท่าฟ้าเป็นต้น แผนที่นั้นแล้วจึงจะส่งภายหลัง
(พระ บรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 9)
ที่ 14/271 สวนดุสิต
วันที่ 7 พฤษภาคม รัตนโกสินทร ศก36 122
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รับหนังสือที่ 14/1365 ลงวันวานนี้ ส่งรายงานนายพันโทพระสุรเดชรณชิตซึ่งมีมาแต่เชียงคำ เป็นรายงานครั้งที่ 10 แลครั้งที่ 11 มานั้นทราบแล้ว
รายงานพระสุรเดชครั้งนี้ เป็น 2 แพนก ฝ่ายข้างพลเรือนในระหว่างข้าหลวงแลเจ้าลาว ดูเหมือนมหาดไทยยังไม่สู้มีความรู้ชัดเจน จึงได้บอกไปให้กรมหลวงดำรงทราบ
ฝ่ายข้างการทหารนี้ยังเป็นหลายความคิด อยากจะให้ตกลงกันสักทีว่าจะจัดเพียงเท่าใดก่อน จึงจะได้หารือไปยังกรมหลวงดำรงด้วย
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 10)
ที่ 15/311 สวนดุสิต
วันที่ 13 พฤษภาคม รัตนโกสินทร ศก36 122
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รายงานพระสุรเดชรณชิตในเรื่องราชการเมืองน่าน เห็นว่าเป็นข้อที่ข้าหลวงใหญ่เมืองเชียงใหม่ไม่มีท่าทางจะทราบได้หลายอย่าง พระสุรเดชรณชิตอยู่เชียงใหม่ ถ้าแจ้งรายงานให้พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ทราบจะเป็นทางความคิดในราชการดี มาก ขอให้โทรเลขไปถึงพระสุรเดชรณชิตให้แจ้งความให้พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ทราบ ด้วย
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 11)
ที่ 17/356 สวนดุสิต
วันที่ 20 พฤษภาคม รัตนโกสินทร ศก36 122
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รับหนังสือที่ 18/2021 ลงวันวานนี้ ส่งรายงานนายพันโทพระสุรเดชรณชิตมีมาจากเชียงราย ซึ่งเป็นรายงานครั้งที่ 13 ไปตรวจทางถึงเชียงคำแลแผนที่ต่าง ๆ รวม 8 ฉบับและตรวจการมณฑลพายัพ ส่งลักษณะระยะทางตอนที่ 3 ตั้งแต่เมืองน่านรูปถ่าย 23 อย่าง อย่างละ 2 รูป รวม 46 รูป กับบาญชีจำนวนทหารที่อยู่ในบังคับนายพันโทพระยารามกำแหง แลสำเนาหนังสือมีไปมากับพระยารามกำแหง รวม 4 ฉบับมานั้น ได้ดูโดยเลอียดแล้ว
พระสุรเดชควรจะถึงเชียงใหม่แล้ว ซึ่งโทรเลขขึ้นไปไม่ได้ข่าวคราวนั้น เวลานี้กำลังกาหลกันมากด้วยเรื่องโทรเลขเชียงใหม่ ได้จดหมายไปขอให้เจ้าฟ้ากรมขุนนริศร์ช่วยไต่สวนด้วยแล้ว โทรเลขตั้งแต่เชียงใหม่ไปเชียงรายก็ว่าแล้วสำเร็จเป็นแต่ยังขาดเครื่อง ว่าให้ลงมาเอาที่นครลำปางหลายวันมาแล้ว ปานนี้ก็คงใช้ได้ โดยว่าพระสุรเดชกำลังเดินทาง ถามหลวงรัดก็คงได้ความว่าออกจากเชียงรายวันใด ได้แบ่งรูปไว้สำรับหนึ่ง
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 12)
ที่ 20/539 สวนดุสิต
วันที่ 11 มิถุนายน รัตนโกสินทร ศก36 122
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รับหนังสือที่ 21/2890 ลงวันวานนี้ ส่งสำเนาคำแปลโทรเลขพระสุรเดชรณชิต เป็นความเห็นเรื่องจะจัดทหารประจำมณฑลพายัพมานั้นทราบแล้ว
ความคิดเขาก็ชอบกลอยู่ อย่างที่ 1 นั้นจัดได้ง่าย อย่างที่ 2 น่าจะลำบาก ขัดขวางในการฝ่ายพลเรือน ควรจะพูดกับกรมหลวงดำรงฟังดู
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 13)
ที่ 24/694 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 4 กรกฎาคม รัตนโกสินทร ศก36 122
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รับหนังสือที่ 26/3837 ลงวันที่ 1 เดือนนี้ ส่งรายงานนายพันเอกพระสุรเดชรณชิตที่ 14 ซึ่งมีมาแต่นครลำปาง แลจดหมายระยะทางตอนที่ 4 กับแผนที่บริเวณต่าง ๆ รวม 8 แผ่น รูปถ่าย 25 อย่าง อย่างละ 2 รูป รวม 50 รูป บาญชีรูปถ่ายฉบับหนึ่ง สำเนาโทรเลขฉบับหนึ่งแลว่าด้วยนายร้อยโทชม ซึ่งมีความผิดได้สั่งไปให้ลดยศจากที่นายร้อยนั้นทราบแล้ว ได้เอารูปไว้อย่างละรูป นายทหารซึ่งขึ้นไปอยู่ในที่ไกลช้านานไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง แลไม่ได้รู้ทางราชการ เลยความประพฤติลงฝังที่เสีย เหมือนคนพื้นเมืองไม่สู้เป็นที่ไว้ใจ เห็นว่านายทหารชั้นนายร้อยไม่ควรจะให้อยู่ประจำราชการ ไม่ได้กลับมาบางกอกเลยถึง 3 ปี โดยไม่เป็นการจำเป็น ควรจะให้ได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามารู้การเดินไปของการทหาร เพราะเหตุว่าเวลานี้กำลังที่จะจัดการเปลี่ยนแปลงอยู่ ถึงชั้นนายพันก็อาจจะเรื้อได้ แต่ช่องที่จะเปลี่ยนยังมีเวลาที่จะยากกว่านายร้อยอยู่บ้าง
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
(ฉบับที่ 14)
ที่ 26/758 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 15 กรกฎาคม รัตนโกสินทร ศก36 122
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รับหนังสือที่ 30/4352 ลงวันวานนี้ ส่งรายงานพระสุรเดชรณชิต ซึ่งไปตรวจทางแลตรวจการมณฑลพายัพ เป็นรายงานครั้งที่ 16 แลแผนที่มณฑลพายัพโดยย่อฉบับหนึ่งมานั้นทราบแล้ว ความคิดพระสุรเดชลึกซึ้งมาก ถึงว่าอย่างอื่นได้ทราบแลได้คิดกันอยู่แล้วบ้าง แต่ข้อซึ่งตั้งเมืองเชียงรายนี้ต้องนับว่าเป็นความคิดของเขา การที่จะทำได้เพียงใดเมื่อใด ยังเกี่ยวอยู่ในความพิจารณาแลประกอบเหตุผลอื่น ๆ แต่คงจะไปรวมยอดลงทางความคิดพระสุรเดชมื้อหนึ่ง
ทางรถไฟที่เขากะนั้น ไปทางเดียวกันกับทางของพระสุรเดช มาแยกตอนล่างที่จะไปเมืองเถินมาเป็นเมืองลองลงมาสวรรคโลกเท่านั้น รายงานนี้ได้ส่งไปให้กรมดำรงดูกับทั้งแผนที่ด้วย เมื่อได้แผนที่กลับไปแล้ว ขอให้คัดส่งมาให้ฉบับ 1 ได้ส่งสำเนาหนังสือกรมดำรงนำส่งรายงานพระสุรเดชมาให้ทราบไว้ด้วย
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
ถึงแก่อสัญกรรม
พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้สละเงินและทรัพย์สมบัติอื่นเป็นจำนวนหลายล้าน เพื่อสร้างสาธารณกุศล นัยว่าท่านเป็นคนใจกุศลมาก เป็นที่พึ่งแก่วงศ์ญาติสมกับที่ท่านเป็นสกุลเชษฐ์แห่งสกุล ณ นคร พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา ด้วยอาการสงบ เมื่อวันมาฆบูชา ในวันพุธ วันที่ 1มีนาคม พ.ศ. 2505 เวลา 10.05 น. ณ บ้านมหาโยธิน คำนวณอายุได้ 93 ปี 10 เดือนเศษ ชีวิตของเจ้าพระยาคนสุดท้ายของสกุล ณ นคร ก็ได้สิ้นสุดลงด้วยประการฉะนี้
ธิดาของท่านคือ คุณหญิงโพยม เสนีย์ณรงค์ฤทธิ์ ได้เขียนคำไว้อาลัยท่านเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต ผู้บิดา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 ว่าไว้อย่างจับใจและเป็นคติในประวัติของท่านดังนี้
เจ้าพระคุณของลูกหลาน
ท่านมิใช่ อัจฉริยะ ยอดมนุษย์
แต่ท่านสุด ประเสริฐ แสนสงวน
ท่านมิใช่ ผู้วิเศษ เดชมากมวล
แต่ท่านเลิศ เลอควร ผู้ครองเรือน
ท่านมิใช่ มณีรัตน์ จรัสหล้า
แต่ท่านล้ำ คุณค่า หาใดเหมือน
ท่านมิใช่ อาทิตย์ ทั้งดาวเดือน
แต่ท่านเยี่ยม ยอดเพื่อน อบอุ่นนัก
ท่านมิใช่ เช่นหงส์ เหมราช
แต่องอาจ กอบก่อ เกียรติศักดิ์
ท่านมิใช่ เทพไท พิไลลักษณ์
แต่เป็นหลัก เป็นพระ ประจำใจ
ท่านมิใช่ สายลม ลหารห้วย
แต่น้ำจิต สุจริตด้วย ธรรมวิสัย
ท่านมิใช่ ไม้พรรณ อันบังใบ
แต่ดังร่ม โพธิ์ไทร เหล่าดนู
ท่านผู้นี้ ผู้ใด ใฝ่ธรรมะ
สู้ยอมเสีย สละ ยิ่งหลายอยู่
ท่านผู้นี้ ผู้ใด ได้เชิดชู
ช่วยเราสู่ สุขสันต์ พันทวี
ท่านมิใช่ ใครอื่น ดื่นพิภพ
พระคุณลบ เลอหล้า สง่าศรี
พรหมของบุตร สุดบูชา บารมี
แผ่เมตตา ปรานี นิรันดร
๏ ท่านสู่สุขลูกทุกข์ทนอนาถ
ดุจฟ้าหาดฟูมฟกอกสุมขอน
ค่อยสร่างโศกซาเศร้าเฝ้าอาวรณ์
ด้วยคำสอนเจ้าพระคุณกรุ่นวิญญา
๏ ให้ยึดมั่นคุณพระรัตนตรัย
ภักดีใจจอมเกล้าเจ้าเกศา
เฉกฉัตรแก้วกั้นเกศเภทพาลา
จะวัฒนาถาวรห่อนเว้นวาย
๏ จึ่งเสนอสาระคดีถ้อย
แต่อนุชนรุ่นน้อยนึกมุ่งหมาย
ไว้อ่านเล่นเป็นคติตามบรรยาย
ไม่สูญหายหลายฉบับตำรับการ
๏ น้อมอุทิศส่วนดีพลีสนอง
แทนมาลัยร้อยกรองกาพย์กลอนสาร
กลิ่นกุหลาบกราบเท้าเร้าดวงมาน
ส่งท่านผ่านฟากฟ้าสุราลัย
๏ แรงกุศลผลบุญวิบูลย์กิจ
ลูกหลานมิตรวงศ์วานดังขานไข
แรงความรักสามัคคีที่จริงใจ
ส่งท่านไปสู่สวรรค์อันรื่นรมย์
จากคำร้อยกรองของธิดา (ท่านผู้หญิงโพยม) ท่านดังกล่าวมานี้ ย่อมทำให้เราเห็นถึงน้ำใจอันดียิ่งของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเป็น อย่างดียิ่ง
ต่อมาได้มีการพระราชทานเพลิงศพท่านพลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส จังหวัดพระนคร เมื่อวันอังคาร วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินในงานพระราชทานเพลิงศพอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมนี้ด้วย เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพท่าน พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตครั้งนี้ เจ้าภาพได้พิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมบรรณการหลายเล่ม เช่น เรื่องพระราชนิพนธ์และสุภาษิตเล่มหนึ่ง รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราชเล่มหนึ่ง พระยายืนชิงช้า พ.ศ. 2460 ซึ่งท่านพลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเมื่อยังเป็นพระยาสีหราชเดโชไชยเป็นพระยายืนชิงช้า เล่มหนึ่ง บันทึกประวัติ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) เล่มหนึ่ง โคลงกวีโบราณ เล่มหนึ่ง
พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต
(แย้ม ณ นคร)
จากหนังสือ “บุคคลสำคัญของไทย”
โดย อรรถ อรรถวุฒิกร
เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นแรกของโรงเรียนนายร้อยทหารบก และนักเรียนคนที่ 3 แต่เมื่อสอบไล่เป็นนายร้อยได้ที่ 1 ได้รับราชการในโรงเรียนนายร้อยและกรมยุทธนาการ ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2465 ส่วนบรรดาศักดิ์ได้รับพระราชทานตามลำดับดั้งนี้ คือเป็น หลวงรวบรัดสปัตรพล พระสุรเดชรณชิต พระยาวรเดชศักดาวุธ พระยาสีหราชเดโชไชย และเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ในปีที่ว่าการเสนาบดีกระทรวงกลาโหมนั้นเอง
ท่านเจ้าคุณบดินทร ฯ ได้รับพระราชทานนามสกุลจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ว่า “ณ นคร” โดยมีพระราชปรารภว่า “ ……….. เห็นว่าสกุลของเจ้าได้ดิบได้ดีและมีชื่อเสียงขึ้นที่นครศรีธรรมราช ซึ่งคนโดยมากก็มักเรียกว่าเมืองนครเป็นที่เข้าใจกั้นดีแล้ว และส่วนสกุลพวกเจ้าพระยานคร ก็มักเรียกกันอยู่แล้วว่า แซ่นคร ข้าจึงเห็นว่า นามสกุลของเจ้าควรที่จะมีคำว่า นคร ปรากฏอยู่ เพื่อเป็นเกียรติยศสืบไป”
อนึ่ง ปรากฏในพงศาวดาร และพระราชหัตถเลขาว่า เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช (น้อย) ซึ่งเป็นเจ้าพระยาครองนครศรีธรรมราชนั้น เป็นเจ้าคุณทวดของเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต และเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าตากสินมหาราช เกิดแต่เจ้าจอมมารดาปรางเป็นมารดา ด้วยเมื่อครั้งเจ้าพระยานครยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พระองค์ได้ตั้งให้พระยานครเป็นอุปราชครองเมืองต่อไป
สมัยเจ้าคุณบดินทรเดชานุชิตเยาว์วัย มีหน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งคือ ท่านบิดาจัดให้มีหน้าที่ใส่บาตรพระภิกษุสามเณรมารับบิณฑบาตรวันละมาก ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาใส่บาตรเป็นชั่วโมง ด้วยการถูกชักจูงให้ใกล้พระสงฆ์เช่นนี้ หลังจากได้โกนจักแล้ว จึงศรัทธาอุปสมบทเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุ แล้วต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ 1 พรรษา เรียนทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2423 สมเด็จเพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ออกไปเมืองนครศรีธรรมราช ตอนกลับได้ขอท่านต่อเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พร้อม) ท่านบิดา มาเพื่อให้เรียนหนังสือต่อและรับราชการในกรุงเทพ ฯ และก็ปรากฏต่อมาว่าท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเป็นนายทหารที่มีความรู้และ ความสามารถมาก
ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เรื่องอินโดจีน พ.ศ. 2436 แม้ขณะนั้นท่านอายุเพียง 30 ปี แต่เป็นไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าอยู่หัว จึงได้รับแต่งตั้งให้คุมทหารไทยไปรักษาเขตแดนด้านอุบลราชธานี และได้ไปตั้งค่ายที่ศรีทันดร ริมฝั่งแม่น้ำโขง กองหน้าได้ประชิดกับข้าศึกถึงต้องต่อสู้กันด้วยอาวุธ ต่อจากนั้นมาอีก 9 ปีพวกเงี้ยวทางภาคพายัพได้ก่อการจลาจลขึ้น เวลานั้นท่านเจ้าคุณเป็นพระสุรเดชรณชิต ได้รับคำสั่งให้นำทัพไทยไปปราบเงี้ยว จึงได้ตรวจทราบสภาพความเป็นอยู่ในภาพเหนือหลายจังหวัดพิจารณาเห็นความจำเป็น ต้องให้มีการตั้งกองทหารปราจำ จึงได้จัดตั้งกองทหารไว้ทางภาคเหนือขึ้นแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา ในการปราบเงี้ยวครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขาถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทรงชมความสามารถของท่านเจ้าคุณบดินทรเดชานุชิตว่า “พระสุรเดชนับว่าเป็นช้างเผือกในทหารคนหนึ่ง แซ่เจ้าพระยานครจะไม่สูญ” และในปีต่อมาท่านได้รับมอบให้ไปดูการประลองยุทธประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสมัยนั้นน้อยคนนักจะได้เดินทางราชการต่างประเทศ จึงนับว่าเป็นเกียรติอันหนึ่ง
เมื่อ พ.ศ. 2453 มีจีนคณะหนึ่งได้รวบรวมคนและเงิน เพื่อจะไปช่วยปราบกบฏประเทศจีน เหตุเกิดที่เมืองแพร่ ท่านเจ้าคุณบดินทรเดชานุชิตได้รับพระบรมราชโองการให้ออกไต่สวนระงับ เหตุการณ์ ซึ่งท่านจัดการให้เป็นที่เรียบร้อยไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะความปรีชาสามารถและอุตสาหะ เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก และได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรีตั้งแต่ พ.ศ. 2458 – 2469 และออกจากราชการมารับบำนาญเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2469
เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้ใช้ชีวิตบั้นปลายในการฟังเทศน์ทางวิทยุ อ่านหนังสือธรรมะ และหนังสือสารคดีต่าง ๆ และหนังสือที่ชอบที่สุดคือ หนังสือพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน สาส์นสมเด็จ ของสมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ซึ่งอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่ามิรู้จักเบื่อ ท่านเคยเล่าเมื่อครั้งจะตั้งศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราชสมัยการปกครองจัด แบ่งเป็นจังหวัด มณฑล ตระกูล ณ นคร ได้ยกที่ดินและวังของเจ้าพระยานคร ซึ่งได้รับมรดกตกทอดกันมาแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีให้เป็นที่ตั้งศาลากลาง จังหวัดของรัฐบาล แต่ พ.ศ. 2451 และหอพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นที่เก็บโกศบรรจุอัฐิของตระกูล ณ นคร นั้น ก็ยกให้รัฐบาลด้วย นอกจากนั้นที่นครศรีธรรมราชยังมีฮวงซุ้ยบรรพบุรุษตระกูล ณ นคร ซึ่งเป็นพ่อตาเจ้านครและมีศาลพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นที่สักการะของชาวจังหวัด นครศรีธรรมราชอีกด้วย
สำหรับเรื่อง “ศาลาโดหก” หรือ “ศาลาโกหก” นั้นท่านเล่าว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมลายู พระองค์แวะนมัสการสมโภชพระบรมธาตุ ณ วัดศรีมหาธาตุ และประทับ ณ พลับพลาซึ่งชาวนครปลูกไว้ใต้ต้นประดู่หกต้นที่หน้าเมือง เพราะใต้ร่มประดู่นั้นเป็นที่ร่มเย็นดี ด้วยกิ่งก้านสาขาปกแผ่ติดต่อกัน ต่อเมื่อรื้อพลับพลาแล้ว ทางการได้สร้างศาลาไว้แทนพลับพลาเพื่อเป็นอนุสรณ์ จึงเรียกศาลานี้ว่า “ศาลาโดหก” คำว่า “โด” ภาษาพื้นเมืองแปลว่า “ต้นประดู่” “หก” ก็คือหกต้น รวมเป็นความว่าศาลาประดู่หกต้นนั่นเอง เพราะอยู่ที่ใต้ต้นประดู่หกต้น แต่คนที่อื่นไปนครไม่เข้าใจภาษา จึงฟังเสียง โดหกเป็นโกหก เพราะไม่รู้ความหมายคำว่าโด เข้าใจเป็นคำใกล้เคียงเสียงนั้นว่าโกหกไป
เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเป็นผู้ที่มีใจบุญสุนทานได้ตั้งทุน “ณ นคร” สำหรับเก็บดอกผลบำรุงพระสงฆ์สามเณรอาพาธในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งทุน “ ณ นครที่ 1” ที่มหามกุฎราชวิทยาลัย เพื่อเก็บดอกผลบำรุงพระศึกษาปริยัติธรรมเผยแพร่พุทธศาสนา และตั้งทุน “ณ นครที่ 2” เพื่อเก็บดอกผลเป็นค่าภัตตาหาร และการศึกษาของพระภิกษุสามเณรวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช และมอบเงินสดแก่ธนาคารกรุงเทพ ฯ สามแสนบาทเป็นทุน “ณ นคร และสายสัมพันธ์” เพื่อสร้างศาลาอนามัยนครศรีธรรมราช กับได้สร้างโรงเรียนอนุบาล (ณ นคร อุทิศ) สร้างโรงเรียนวัดประดู่ สร้างโบสถ์วัดธาราวดี ศาลาการเปรียญวัดมเหยงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมที่มีหลักฐานการจ่ายเป็นเงิน 1,148,112 บาท และที่บำเพ็ญร่วมการกุศลต่าง ๆ รายย่อยอีกประมาณ 100,000 บาท นับว่าเป็นผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ ตลอดจนเอาใจใส่ในการศึกษาอย่างดีด้วย จะได้บุญกุศลบุญราศีที่ได้สร้างไว้ดีก็ได้ จึงค้ำจุนให้ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต มีอายุยืนนานถึง 94 ปี ท่านถึงอสัญกรรมเมื่อวันที 1 มีนาคม พ.ศ. 2504 ด้วยความชราภาพ เหมือนกับผลไม้ที่สุกงอมร่วงหล่นไปเองตามธรรมชาติ แต่คุณความดีที่สร้างไว้คงปรากฏเป็นเกียรติแก่สกุล “ณ นคร” ไปชั่วนิรันดรหาได้ดับสูญไปด้วยไม่
ระยะทางเดินรถศพ
พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ร.ว.ม ป.จ.ม ป.ช.ม ป.ม.
วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2505
จาก หนังสือ “อนุทิน อนุสรณ์” งานบรรจุอัฐิ
พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร)
เสนาบดีกระทรวงกลาโหม 2464 – 2469
ณ หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
วันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2505
รถเปล่าไปรับศพ เวลา 12.00 น. ออกจากหมวดม้าต้นไปตามถนนสวรรคโลก ถนนเพชรบุรี ถนนราชดำริ ถนนเพลินจิตร ถนนวิทยุ เข้าสู่บ้าน “มหาโยธิน” เลขที่ 107
รถเชิญศพ เวลา 13.00 น. ออกจากบ้าน “มหาโยธิน” เลี้ยวขวาถนนวิทยุ เลี้ยวซ้ายถนนเพลินจิตร เลี้ยวขวาถนนราชดำริ ถนนเพชรบุรี ถนนหลานหลวง ข้ามสะพานจตุรพักตร์ (ใช้เฉพาะรถเชิญศพ) เลี้ยวซ้ายถนนกรุงเกษม ถนนหลวงเข้าสู่สุสานหลวง วันเทพศิรินทราวาสทางประตูด้านใต้ หยุดรถตั้งกระบวนเวียนเมรุ
(รถศพสูงขาดยอด 425 ซม.)
รถเปล่ากลับออกจากสุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส ทางประตูด้านใต้ เลี้ยวขวาถนนหลวง เลี้ยวขวาถนนพลับพลาไชย เลี้ยวขวาถนนบำรุงเมือง เลี้ยวซ้ายถนนกรุงเกษม เลี้ยวขวาไปตามถนนหลานหลวง ถนนสวรรคโลก เข้าสู่ม้าต้น
วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2505 เวลา 13.00 น. เชิญโกศศพขึ้นรถยนต์กอประเทียบ ออกจากบ้าน “มหาโยธิน” ถนนวิทยุ ไปยังสุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เข้าทางประตูด้านใต้ หยุดรถตั้งกระบวนเวียนเมรุ แล้วเชิญโกศศพขึ้นตั้งบนจิตกาธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ร.ว., ป.จ., ป.ช., ป.ม., ที่เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เวลา 17.00 น. เสด็จ ฯ ขึ้นประทับพลับพลาอิศริยาภรณ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานผ้าไตร 10 ไตร ให้ทายาทนำไปทอดที่โกศศพ พระสงฆ์บังสุกุลเสร็จแล้ว เสด็จ ฯ ขึ้นเมรุพระราชทานเพลิงศพ สมควรแก่เวลาเสด็จ ฯ กลับ เวลาประมาณ 20.00 น. เชิญโกศศพเข้าสู่เตาเผาจริง วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2505 เวลา 07.00 น. เจ้าภาพเก็บอัฐิ ถวายภัตตาหารสามหาบ
การเชิญโกศอัฐิ
เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต อดิศรมหาสวามิภักดิ์ อุดมศักดิ์เสนาบดี ศรีธรรมราชกุลพงศ์ ดำรงราชวรฤทธิ์ สัตยสถิตย์อาชวาศัย พุทธาทิไตรย์สรณธาดา อภัยพิริยบรากรมพาหุ มุสิกนาม ดำรงศักดินา 10000
กำหนดการโดยย่อ วันอาทิตย์ 1 เมษายน พ.ศ. 2505 เวลาประมาณ 15 น. ขึ้นรถไฟด่วนสายใต้ที่สถานีหัวลำโพง ถึงสถานีนคร วันที่ 2 ประมาณ 12 น. แสดงความขอบพระคุณท่านที่มาต้อนรับ แล้วเชิญโกศอัฐิไปประดิษฐาน ณ ที่บูชา ศาลาการเปรียญ วัดมเหยงค์ ซึ่งเจ้าอาวาสเป็นประธานจัดการไว้พร้อมสรรพเพื่อให้เจ้าภาพบำเพ็ญกุศลตาม ประเพณี ในระหว่างทางน้อมนมัสการปูชณียสถานศักดิ์สิทธิ์ทั่วกันเป็นมงคลอุดมฤกษ์ ครั้งแรกก่อน
วันรุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเพลแล้วเชิญโกศอัฐิมา ณ หอพระพุทธสิหิงค์ด้านหลัง บรรจุในช่องพระปรางค์ตามลำดับเฉพาะเชื้อสายชั้นผู้ใหญ่ในสกุล ณ นคร บังสุกุล มีรายการบำเพ็ญกุศลต่อไป ณ แห่งอื่น และมีการเลี้ยงเยี่ยมเยียนตามสมควร วันที่ 6 ไปเคารพนมัสการลาพระบรมธาตุและบรรพบุรุษ ตลอดญาติมิตร วันที่ 7 กลับกรุงเทพพระมหานคร
วิเชียร ณ นคร เรียบเรียงจาก
– บันทึกประวัติ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) พิมพ์ในการพระราชเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
– วิเชียร ณ นคร, พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร), พร้อมรำลึก, อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ น.ส. พร้อม ณ นคร ณ เมรุวัดโพธิ์วรวิหาร
จังหวัดนครศรีธรรมราช ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔
http://nanagara.com/history-27.html