พระรัตนธัชมุนี (ม่วง ศิริรัตน์)

4282

พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช สังฆนายกตรีปฎกคุณาลังการ ศีลสมาจารวินยสุนทร ยติคณิศรบวรสังฆาราม คามวาสี (ม่วง รตนธชเถร)

ประวัติ

พระ รัตนธัชมุนี  มีนามเดิมว่า ม่วง ศิริรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ ที่บ้านหมาก หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านเพิง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรนายแก้ว และนางทองคำ ศิริรัตน์ มีพี่น้อง ๗ คน เป็นบุตรคนสุดท้องเป็นสหชาติในพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การศึกษา
เข้า ศึกษาเบื้องต้นในอำเภอปากพนัง  เมื่ออายุ ๑๕ ปี    ได้บรรพชาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรรม ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาตรวจการพระศาสนาในนครศรีธรรมราช จึงทูลขอตามเสด็จมาศึกษาเล่าเรียนต่อที่กรุงเทพฯ และได้บวชเป็นภิกษุธรรมยุติกนิกาย  สอบได้เปรียญ   ๔   ประโยค  แล้วทูลลากลับมาอยู่วัดท่าโพธิ์  อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้ทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า “พระสิริธรรมมุนี”

พ.ศ.๒๔๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี เป็นผู้อำนวยการการศึกษามณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลปัตตานี  เพื่อให้จัดการพระศาสนาและการศึกษาใน ๒ มณฑล

ด้วยความรู้ ความสามารถ และความอุตสาหะวิริยะพากเพียรในการรับใช้บ้านเมือง ในด้านการพระศาสนาและการศึกษาในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่มีราชทินนามตามสัญญาบัตรว่า “พระเทพกวีศรีสุทธิดิลกตรีปิฎกบัณฑิตยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี” สถิต ณ วัดท่าโพธิ์ ตำบลกลางเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีนิตยภัตเดือนละ ๒๖  บาท มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้  ๔  รูป ต่อมาได้โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก ตรีปิฎกธรรมภูษิตยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี”

มีนิตยภัตเดือนละ ๒๘ บาท มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๖ รูป ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๖โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น“พระรัตนธัชมุนี ศรีธรรมราชสังฆนายก ตรีปิฎกคุณาลังการ ศีลสมาจารวินยสุนทร ยติคณิศร บวรสังฆรามคามวาสี” สถิต  ณ    วัดท่าโพธิ์    อำเภอกลางเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช     มีฐานศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๖ รูป พระรัตนธัชมุนีได้ทำงานทางด้านการพระศาสนาและการศึกษาเพื่อบ้านเมืองตลอดมา จนถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่   ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ อายุได้ ๘๒ ปี ๔๕ พรรษา

 

ผลงาน/เกียรติคุณที่ได้รับ

ผลงานสำคัญของพระรัตนธัชมุนี (ม่วง)
๑.ด้านการศาสนา

แก้ไข การปกครองสงฆ์   สามเณร   ในนครศรีธรรมราช   พัทลุง  และสงขลาใหม่  โดยกำหนดให้มีเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง  อธิการวัด  และพระครู  บังคับบัญชากันตามลำดับชั้น วิธีการแบบนี้เป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องมาก              สามารถแก้ไขปัญหาในการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ จนกระทั่งกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสและกรมหมื่นดำรงรา-ชานุภาพ  ทรงเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นแบบแผนที่ดี ควรให้ผู้อำนวยการการศึกษารับไปจัดให้ตลอดเหมือนกันทั่วทุกมณฑล

๒.ด้านการศึกษา

เป็น ผู้ริเริ่มจัดการศึกษาฝ่ายสามัญและวิสามัญขึ้นในมณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑล ปัตตานี  ซึ่งแต่เดิมมักจะศึกษากันที่วัดหรือบ้าน เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้อำนวยการศึกษาแผนใหม่  ก็เริ่มจัดการตามพระราชประสงค์ทันที   ดังปรากฏอยู่ในรายงานการศึกษา   ร.ศ.๑๑๙  ลงวันที่  ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๓ จำนวนโรงเรียนที่ท่านได้จัดตั้งทั้งหมด ๒๑ แห่ง ดังจะกล่าวโดยสรุปเพียงบางโรงดังนี้

โรงเรียนหลวงหลังแรกตั้งอยู่ที่วัดท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช  มีชื่อว่า “สุขุมาภิบาลวิทยา” ได้พระยาสุขุมนัยวินิต(ปั้น  สุขุม)ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้อุปถัมภ์  (โรงเรียนนี้ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “เบญจมราชูทิศ”)โรงเรียนราษฎรผดุงวิทยา ตั้งอยู่ที่วัดพระนครได้พระครูกาชาติเป็นผู้อุดหนุน โรงเรียนวัฑฒนานุกูล  อยู่ที่วัดหมาย  อำเภอท่าศาลา  ได้นายเจริญ  กรมการอำเภอเป็นผู้อุดหนุนโรงเรียนกระเกษตราภิสิจน์    ตั้งอยู่ที่วัดร่อนนอก     อำเภอร่อนพิบูลย์     ได้ขุนเกษตรพาหนะเป็นผู้อุดหนุนโรงเรียนนิตยาภิรมย์  ตั้งอยู่ที่วัดโคกหม้ออำเภอทุ่งสง   ได้นายเที่ยง   กรมการอำเภอเป็นผู้อุดหนุนโรงเรียนวิทยาคมนาคะวงศ์ ตั้งอยู่ที่วัดวังม่วง อำเภอฉวาง ได้นายนาคกรมการอำเภอเป็นผู้อุดหนุน

ท่านเจ้า คุณรัตนธัชมุนี  นอกจากจะเป็นผู้ริเริ่มจัดการศึกษาฝ่ายสามัญทั่วทั้งภาคใต้ดังกล่าว พอสังเขปแล้วนั้น ท่านยังได้พยายามจัดตั้งโรงเรียนวิสามัญ เช่น ให้มีการสอนวิชาช่างถมขึ้นที่วัดท่าโพธิเป็นครั้งแรก ในพระราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ในระยะแรก ๆ ท่านได้สละนิตยภัตส่วนตัวของท่านให้เป็นเงินเดือนครู และได้เพียรทำนุบำรุงให้เจริญเป็นลำดับ   โรงเรียนช่างถมนี้ภายหลังทางราชการได้รับช่วงเป็นโรงเรียนหลวงประเภท วิสามัญ


๓.ด้านกวีนิพนธ์

พระ รัตนธัชมุนี  มีความสามารถทางกวีนิพนธ์ด้วย ทั้งกลอนสด กลอนเพลงบอก และโคลงกลอนอื่นๆ อีกมาก ตัวอย่างเช่น  แต่งคำร้องรับเสด็จในสมัยรัชกาลที่  ๕ เพื่อให้นักเรียนร้องรับเสด็จ เมื่อเสด็จถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช        แต่งโคลงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จประพาส จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๔๔๑ แต่งเพลงบอกเรื่องศาลาโกหกดังตัวอย่าง

                   มีนครามหาสถาน                    นามขนานนครฯ สถิตย์
ประจิมทิศและบูรพา                         มีทุ่งนาเรียง
มีสนามหญ้าอยู่หน้าเมือง         เจริญเรื่องครั้งโบราณ
ป้อมปราการถะเกิงยศ                        ยังปรากฏเสียง…..
เป็นเมืองเอก ณ ปักษ์ใต้           พลไพร่ก็พร้อมเพรียง
รุกขาเรียงแถวิถี                                 เมทนีดล
มีศาลาหน้านครินทร์                พื้นเป็นดินก่อด้วยอิฐ
หลังคาปิดบังร้อน                              ทั้งได้ซ่อนฝน
ศาลานี้มีเป็นหลัก                    ที่สำนักประชาชน
ผู้เดินหนได้หยุดอยู่                            ทุกฤดูกาล
มีประดู่อยู่หกต้น                     ซึ่งสูงพ้นแต่หลังคา
รอบศาลากิ่งโตใหญ่                          แผ่อยู่ไพศาล
อยู่ในถิ่นปราจีนถนน                เป็นที่ชนได้สำราญ
แต่ก่อนกาลดึกดำบรรพ์                      เป็นสำคัญกล่าว
ชาวบ้านนอกออกสำเหนียก       นิยมเรียกคำสั้นสั้น
ชอบแกล้งกลั่นพูดห้วนห้วน                 ตัดสำนวนยาว
เรียกว่าศาลาโดหก                   โดยหยิบยกวัตถุกล่าว
เรียกกันฉาวทั่วทั้งบ้าน                        มีพยานโข
นิยมวัตถุประจักษ์เห็น               ตามกาลเป็นสมัยก่อน
ใช่เติมทอนหันเห                               ไปทางเฉโก
กระบิลเมืองเรียกกันอยู่             คือประดู่ว่าโด
ไม่ใช่พึ่งโผล่ไม่ใช่พึ่งนึก                      เรียกมาดึกดำ
ชนต่างด้าวชาวต่างเมือง          ไม่รู้เรื่องประถมถิ่น
พูดเล่นลิ้นปลายฝีปาก                       จึงถลากถลำ
เรียกว่าศาลาโกหก                   ซึ่งแกล้งยกเอาความระยำ
ตัดถ้อยคำที่เป็นจริง                           เปลี่ยนออกทิ้งไป
หามีศาลาโกหกไม่                   เป็นคำใกล้ “โด” กับ “โก”
เมื่อใครโผล่ขึ้นสักคำ                         ชวนกันซ้ำใหญ่
ถ้าโกหกคือโกหกอย่างที่นึก       จะจารึกไว้ทำไม
เพราะผู้ใหญ่ปกครองถิ่น                    ใช่ว่ากินทราย
โดยคำโกหกลามกมาก             แบ่งเป็นภาคของความชั่ว
ไม่ให้กลั้วติดถิ่น                                ในแผ่นดินสยาม
จึงทรงโปรดเกล้ากรุณา             ให้เรียกศาลาสัจจนาม
สมกับกับความศรีวิไล                        มีอยู่ในแดน

ตัวอย่าง โครงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จประพาสจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ท่านเจ้าคุณพระรัตนธัชมุนีนิพนธ์ไว้ดังนี้

                             “เจริญ ราชศิริทิ้ง                    บรมวงศ์ สยามเฮย
เจริญ มุขมนตรีคง                          สัตย์น้อม
เจริญ ธัญญาพืชจง                         จวบพรรษ กาลแฮ
เจริญ สุขปรปักษ์อ้อม                     ออกทั่วถวายชัย
สุข ภายสุขจิตเปลื้อง            ปลอดภัย
สุข สิ่งประสงค์ใด                          ด่วนได้
สุข สรรพโภภัย                              คับคั่ง มานา
สุข สืบประยูรวงศ์ไว้                       ชั่วฟ้าดินสูญ

 

 

ที่มา http://www.siamsouth.com