ประวัติเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)

4190

เจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นเจ้าเมืองลำดับที่ ๓ ของเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นเจ้าเมืองที่มีชื่อเสียงโดดเด่นกว่าเจ้าเมืองใด ๆ ในสมัยเดียวกัน เพราะเป็นทั้งนักรบ นักปกครอง และเป็นผู้สันทัดในการช่างเป็นอย่างยอดเยี่ยม

 

ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณชาติบ้านเมืองด้วยความอุตสาหะ จงรักภักดีซื่อสัตย์ต่อพระบรมราชโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งพระ บมราชจักรีวงศ์อย่างแน่วแน่มั่นคงถึงสามรัชกาล คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามลำดับ นับได้ว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้บำเพ็ญกรณียกิจที่สำคัญแก่ชาติบ้าน เมืองมายาวนาน ตั้งแต่วัยฉกรรจ์จนกระทั่งถึงอสัญกรรม

 

     เจ้าพระยานคร (น้อย) หรือเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีวอก จ.ศ. ๑๑๘๓ ตรงกับวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๓๑๙ (ในสมัยแผ่นดินกรุงธนบุรี) ตามหลักฐานทางราชการกล่าวว่าเป็นบุตรพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) มารดาชื่อปราง หรือหนูเล็ก* (* กรมศิลปากร “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยังพระองค์เจ้าปัทมราช” รวมเรื่องนครศรีศรีธรรมราช หน้า ๒๑๒) แต่คนทั้งหลายเข้าใจกันว่าเป็นลูกยาเธอในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หาใช่บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ไม่ เพราะปรากฏว่าเมื่อเจ้านคร (หลวงนายสิทธิ์) เข้ามารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรีได้ถวายธิดาชื่อฉิม แด่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงรับไว้เป็นพระสนมเอก มีลูกเธอซึ่งปรากฏพระนามในภายหลังว่า พระพงษ์นรินทร์ พระอินทร์อำไพมีน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิมไปอยู่ในพระราชวังด้วยคนหนึ่ง ชื่อว่า “ปราง” เมื่อปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๔ (พ.ศ. ๒๓๑๙) เจ้าพระยาพิชัยราชา ผู้สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลกลงมาเฝ้าและทูลขอน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิม สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระพิโรธยิ่งนัก ทรงหาว่าเจ้าพระยาพิชัยราชายังอาจจะมาเป็นเขยน้อยเขยใหญ่กับพระองค์ จึงให้ลงพระอาญาประหารชีวิตเสีย ส่วนปรางผู้เป็นน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิมนั้นคงอยู่ในพระราชวังเรื่อยมา และได้เป็นบาทบริจาริกาของสมเด็จพระเจ้าตากสินอีกคนหนึ่งจนถึงปลายรัชกาล (ราว พ.ศ. ๒๓๑๙)  ได้พระราชทานปราง ซึ่งเป็นน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิมแก่เจ้าพระยานคร (พัฒน์) แต่มีครรภ์อ่อน ๆ อยู่แล้ว ครั้นคลอดก็เป็นชาย ซึ่งต่อมาก็คือตัวเจ้าพระยานคร (น้อย) นั่นเอง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสมมตอมรพันธ์ ทรงเรียบเรียงประวัติของเจ้าพระยานคร (น้อย) ไว้พระนิพนธ์เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ว่า “เป็นบุตรเจ้าพระยานครพัฒน์ ซึ่งภายหลังเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี อีกนัยหนึ่งว่า เป็นลูกยาเธอพระเจ้ากรุงธนบุรีดังมีข้อความในพระราชวิจารณ์นั้นแล้ว” พระราชวิจารณ์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสมมตอมรพันธ์ ทรงอ้างนั้นคือพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงพระราชวิจารณ์เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนริทรเทวี ตอนที่ตรัสถึงเจ้าพระยานคร (น้อย) และเจ้าจอมมารดาปรางในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ได้นำมาบันทึกไว้ในประวัติของท่านอย่างกะทัดรัดว่า “เจ้าจอมมารดาปรางในพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานแก่อุปราชพัฒน์มีความชอบชนะศึก ชายาถึงแก่กรรม รับสั่งว่าอย่าเสียใจนักเลย จะให้ไปเลี้ยงหลาน ท้าวนางกราบทูลว่าเริ่มตั้งครรภ์สองเดือน รับสั่งว่าตรัสแล้วไม่คืนคำ พระราชวิจารณ์รัชกาลที่ ๕ ว่าไม่ทรงทราบหรือจะเป็นราโชบายให้เชื้อสายไปครองเมืองให้กว้างขวางออกไป แนวเดียวกับให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ไปครองเขมร เจ้าพัฒน์รับไปตั้งไว้เป็นนางเมือง มิได้เป็นภรรยา เป็นเรื่องที่เล่ากระซิบกันอย่างเปิดเผย บุตรติดครรภ์เป็นชายชื่อ น้อย เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจวาสนามากกว่าเจ้านครทุกคน”

เจ้าพระยานคร (น้อย) เริ่มเข้ารับราชการอย่างจริงจังในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย คือใน พ.ศ. ๒๓๕๔ กล่าวคือ เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ก็ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลพระกรุณาว่ามีความชรา หูหนัก จักษุมืดมัวและหลงลืม ขอพระราชทานถวายบังคมลาออกจากราชการ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศเหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ตำแหน่งจางวาง และทรงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชเป็นพระยาศรีธรรมาโศกราช ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช และได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ในรัชกาลที่ ๒ ภายหลังได้ปราบปรามกบฏเมืองไทรบุรีครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๖๔  จนเป็นผลสำเร็จ และได้ปกครองเมืองนี้จนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๑ สิริรวมอายุได้ ๖๒ ปีเศษ
เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นอย่างดี ผลงานที่สำคัญ ๆ ในชีวิตของท่านได้แก่

     ๑. การตีเมืองไทรบุรี
เมืองไทรบุรี นับเป็นเมืองที่มีปัญหาในการปกครองของไทยตลอดเวลาที่เจ้าพระยานคร (น้อย) ปกครองเมืองนคร เจ้าพระยานคร (น้อย) ต้องใช้ความรู้ความสามารถทั้งในด้านการสงคราม การทูต การปกครอง และการบริหารอย่างยิ่งยวด จึงสามารถรักษาเมืองไทรบุรีให้อยู่ภายในราชอาณาจักรไทยตลอดชีวิตของท่าน ทั้งนี้เพราะปัญหาเมืองไทรบุรีเป็นปัญหาละเอียดอ่อน ที่อยู่ภาวะล่อแหลมต่ออันตราย คือภัยจากเจ้าเมืองเดิมประการหนึ่ง และภัยจากอังกฤษที่กำลังแสวงหาเมืองขึ้นอีกประการหนึ่ง ภัยทั้งสองประการดังกล่าวได้ทำให้เจ้าพระยานคร (น้อย) ต้องยกกำลังไปปราบถึง ๔ ครั้ง ดังจะกล่าวถึงรายละเอียดอังนี้

๑.๑ การศึกเมืองไทรบุรีครั้งแรก (พ.ศ. ๒๓๖๔)
เมืองไทรบุรีแม้ว่าจะเป็นประเทศราชของไทยมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จกรมพระราชวัง บวรมหาสุรสิงหนาถ โปรดเกล้า ฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา และพระยาจ่าแสนยากรเป็นแม่ทัพไปตีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ ก็จริง แต่การยินยอมของพระยาไทรบุรี (โมกุรัมซะ) ในครั้งนั้นเป็นไปในลักษณะจำยอม ด้วยเกรงฝ่ายไทยซึ่งมีแสนยานุภาพเหนือกว่า ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้พระยาไทรบุรีก็เคยอ่อนน้อมต่อพม่ามาแล้ว แต่ครั้นเมื่อพระยาไทรบุรี (โมกุรัมซะ) ถึงแก่กรรมลง ตนกูปะแงรันจึงได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีแทน โดยมีชื่อว่า “พระยารัตนสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหะหมัด รัตนราชบดินทร์ สุรินทรวังษา พระยาไทรบุรี” แต่คนโดยทั่วไปรู้จักกันในนาม “พระยาไทรบุรีปะแงรัน” พระยาไทรบุรีคนใหม่นี้เริ่มหันไปฝักใฝ่พม่าอีก การกระทำดังกล่าวนี้เจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งขณะนั้นยังเป็น “พระยานคร (น้อย)” มีฐานะเป็นผู้กำกับเมืองไทรบุรี (ตามนโยบายของราชธานี สมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา) ได้ทราบข่าวและเริ่มสงสัยในพฤติกรรมของพระยาไทรบุรีปะแงรันมาก จึงได้สืบความเคลื่อนไหวและรายงานมายังกรุงเทพฯ อยู่เสมอ ๆ ในการนี้พระยานคร (น้อย) ได้ว่าจ้างจีนชื่อ “ถาไหล” ให้เป็นผู้สืบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) อยู่เกาะปีนัง* (* จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ จ.ศ. ๑๑๘๐ (พ.ศ. ๒๓๖๑) เลขที่ ๓)  ประกอบกับตนกูหม่อม น้องชายพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) คนหนึ่งไม่พอใจการกระทำของพี่ชาย ได้เข้ามาแจ้งแก่พระยานคร (น้อย) นอกจากนี้พ่อค้าจีนชาวเมืองถลางชื่อ “ลิมหอย” ซึ่งกลับจากค้าขายที่ปีนัง ได้ตรวจค้นเรือพม่าลำหนึ่งพบหนังสือลับของพระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่า ซึ่งแปลเป็นไทยได้ความว่า ให้พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เอาใจออกห่างไทย และยังชักชวนให้เมืองไทรบุรียกทัพตีไทยตอนใต้ร่วมกับพม่า* (* สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ เล่ม ๒ หน้า ๑๐๔) เมื่อพระยานคร (น้อย) ได้รับรายงานข่าวเช่นนี้จึงกราบบังคมทูลไปยังรัชกาลที่ ๒ ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพิจารณาเห็นว่าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) มีความผิดมาก ปล่อยไว้ต่อไปก็จะกลายเป็นไส้ศึก จึงโปรดให้มีตราออกไปยังพระยานคร (น้อย) ให้ยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรีโดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “พระยาไทรบุรีเอาใจเผื่อแผ่ข้าศึกเป็นแน่แล้ว หากละไว้เมืองไทรเป็นไส้ศึกอีก จึงให้พระยานคร (น้อย) ยกกองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ลงไปตีเมืองไทรบุรีเอาไว้ในอำนาจเสียให้สิทธิขาด …..* (* เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๒๒ – ๑๒๓)  ในการตีเมืองไทรบุรีครั้งนี้ พระยานคร (น้อย) ได้แสดงวิเทโศบายการเมืองที่ฉลาดหลักแหลมในแง่ที่ว่า แทนที่จะบุกเข้าตีอย่างผู้มีอำนาจบาทใหญ่ พระยานคร (น้อย) กลับมีใบบอกให้เมืองไทรบุรีจัดเตรียมซื้อข้าวขึ้นฉางไว้เป็นเสบียงแก่กองทัพ ไทยที่จะรับมือกับพม่าซึ่งจะมาตีปักษ์ใต้ การทั้งนี้ก็เพื่อเป็นอุบายหรือข้ออ้างอันสมเหตุสมผลที่เข้าตีเมืองไทรบุรี เพราะพระยานคร (น้อย) ทราบดีว่าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) จะต้องปฏิเสธหรือบิดพลิ้วคำสั่งในใบบอกอย่างแน่นอน

ครั้นพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) บิดพลิ้วตามความคาดหมาย พระยานคร (น้อย) ก็นำทหารจากเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ประมาณ ๗,๐๐๐ คน ทั้งทัพบกและเรือเข้าตีเมืองไทรบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๖๔  โดยได้เสียทหารไป ๗๐๐ คน ส่วนทหารแขกตายไปประมาณ ๑,๕๐๐ คน ส่วนพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ยกสมัครพรรคพวกหนีไปอาศัยอังกฤษอยู่ที่เกาะปีนัง เป็นอันว่าเมืองไทรบุรีก็ตกอยู่ในอำนาจของพระยานคร (น้อย) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อตีเมืองไทรบุรีได้แล้ว พระยานคร (น้อย) ก็มอบหมายให้พระภักดีบริรักษ์ (แสง) บุตรพระยานคร (น้อย) เป็นผู้รักษาเมือง และให้นายนุชบุตรอีกคนหนึ่งเป็นปลัดเมือง ต่อมาในรัชกาลเดียวกันนี้ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระภักดีบริรักษ์ (แสง) ขึ้นเป็น “พระยาอภัยธิเบศร มหาพระเทศราชธิบดินทร์ อินทรไอศวรรย์ ขัณฑเสมา มาตยานุชิต สิทธิสงคราม รามภักดีพิริยาพาหะ พระยาไทรบุรี” และเลื่อนนายนุชขึ้นเป็น “พระเสนานุชิต” ดำรงตำแหน่งปลัดเมือง

         ๑.๒ การศึกเมืองไทรบุรีครั้งที่สอง (พ.ศ. ๒๓๖๕)
ครั้นรุ่งปี คือ พ.ศ. ๒๓๖๕ ก็เกิดกบฏขึ้นในเมืองไทรบุรีอีก โดยตนกูมหะหมัด ตนกูโยโส และรายาปัตนาซินดรา ญาติของพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ที่อาศัยในเมืองไทรบุรีนำสมัครพรรคพวกประมาณ ๒,๐๐๐ คน คบคิดจะก่อกบฏในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่พระยานคร (น้อย) ทราบเหตุก่อนจึงสามารถตีกองทัพแขกกบฏแตกหนีไปได้โดยง่าย เพราะพวกแขกไม่ทันรู้ตัว* (* จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒  จ.ศ. ๑๑๘๔ (พ.ศ. ๒๓๖๕) เลขที่ ๓)

ผลจากการปราบเมืองไทรบุรีครั้งแรก ใน พ.ศ. 2364  และการปราบกบฏในเมืองไทรบุรีใน พ.ศ. ๒๓๖๕ สำเร็จ ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยานคร (น้อย) ขึ้นเป็น “เจ้าพระยา” และพระราชทานเมืองไทรบุรีให้อยู่ในสิทธิขาดของเจ้าพระยานคร (น้อย) ในฐานะผู้สำเร็จราชการการปกครองดูแลรักษาเมืองไทรบุรีและเมืองเประ ดังปรากฏในท้องตราเจาพระยาอัครเสนาสมุหพระกลาโหมมีออกไปถึงปลัดและกรมการ เมืองนครศรีธรรมราช ณ วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จ.ศ. ๑๑๘๔  ปีมะเมีย จัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๖๕)  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทำให้เจ้าพระยานคร (น้อย) ก็มีฐานะทางการเมืองสูงขึ้น มีอำนาจสิทธิขาดที่จะไปจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทรบุรีได้อย่างเต็มที่ แสดงว่าทางราชธานีได้วางใจในความรู้ความสวามารถของเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นลำดับ

         ๑.๓ การศึกเมืองไทรบุรีครั้งที่สาม (พ.ศ. ๒๓๗๔)
การสงครามเพื่อปราบปรามเมืองไทรบุรีสองครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าฝ้ายเมืองไทรบุรีจะพ่ายแพ้อย่างราบคาบไปก็จริง แต่มิได้หมายความว่าบ้านเมืองจะสงบปราศจาก “คลื่นใต้น้ำ” ทางการเมือง ทั้งนี้เพราะญาติวงศ์ของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้พยายามก่อกบฏอยู่ตลอดเวลาที่มีโอกาส เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ซึ่งหนีไปอยู่ที่เกาะปีนังพยายามติดต่อบริษัทอังกฤษที่เกาะปีนังให้สนับสนุน ตนเพื่อก่อกบฏเมืองไทรบุรีหลายครั้ง ในครั้งแรก ๆ บริษัทก็มีท่าทีให้การสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจอยู่มาก แต่เมื่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้เจรจากับเฮนี่ เบอร์นี่ (Henry Burney)  ตัวแทนบริษัทอังกฤษที่นครศรีธรรมราช และมีการทำสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับตัวแทนบริษัทอังกฤษที่กรุงเทพฯ เมือวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๖๙ แล้ว ผู้ว่าการเกาะปีนังก็มีคำสั่งให้ย้ายพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ออกจากเกาะปีนัง และไม่ให้การช่วยเหลือเหมือนอย่างเคย พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ก็หมดโอกาสใช้เกาะปีนังเป็นฐานปฏิบัติการกบฏอีก แต่ก็มาสนับสนุนหลานชายชื่อตนกูเด่น บุตรของตนกูรายาซึ่งเป็นพี่ชายของพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ให้ก่อกบฏใน พ.ศ. ๒๓๗๔

ตนกูเด่นได้นำสมัครพรรคพวกประมาณ ๓,๐๐๐ คน ยกเข้าตีไทรบุรีทางด้านโปรวินซ์ เวลส์เลย์ พร้อมกับยกกองเรือปิดปากน้ำไทรบุรี พระยาอภัยธิเบศร (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) สู้ไม่ได้จึงพากันหนีมาอยู่ที่เมืองพัทลุง ตนกูเด่นจึงยึดเมืองไทรบุรีได้ง่ายดาย
เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ทราบข่าวศึก พิจารณาเห็นว่าเหลือกำลังทัพเมืองนครศรีธรรมราชจะปราบได้ จึงขอให้พระสุรินทร์ซึ่งเป็นข้าหลวงในกรมพระราชวังบวร ฯ ซึ่งขณะนั้นมาช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช ไปเกณฑ์กองทัพเมืองสงขลา และเมืองแขกทั้ง ๗ หัวเมือง (คือ เมืองยะหริ่ง ยะหา สายบุรี หนองจิก ปัตตานี รามัน ระแงะ) ให้ไปช่วยรบศึกไทรบุรีด้วย แต่ปรากฏว่าพระยาสงขลา (เซ่ง) ไม่ให้ความร่วมมือ เพรามีเรื่องไม่ถูกกับเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นทุนเดิมมาก่อน พระสุรินทร์จึงต้องไปเกณฑ์กองทัพหัวเมืองแขกทั้ง ๗ เอง ปรากฏว่าหัวเมืองแขกทั้ง ๗ ยกเว้นเมืองยะหริ่งไม่ยอมให้ความร่วมมือทั้งยังก่อกบฏขึ้นอีก เป็นอันว่ากองทัพนครต้องไปตีเมืองไทรบุรีโดยลำพังในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๗๔
การศึกครั้งนี้ทัพเจ้าพระยานคร (น้อย) ชนะพวกกบฏอย่างง่ายดาย สามารถตีป้อมไทรบุรีแตกและยกเข้าเมืองได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๔  ตนกูเด่นผู้เป็นกบฏนั้น หลักฐานตามจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติระบุว่าฆ่าตัวตาย แต่ในหนังสือ History of Malaya ของ Richard O. Winsted ระบุว่าถูกฆ่าตาย อย่างไรก็ตามหลักฐานทั้งสองต่างก็ระบุตรงกันว่าหัวของตนกูเด่นกบฏ ถูกตัดส่งไปยังกรุงเทพฯ ส่วนพวกกบฏที่เหลือหนีออกไปทางโปรวินซ์ เวลส์เลย์
ภายหลังเสร็จศึกในครั้งนี้ เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ยกไปตีหัวเมืองแขกซึ่งเป็นกบฏในระยะเดียวกับกบฏไทรบุรีโดยได้แบ่งทัพเป็น สองทาง คือทางเรือยกไปปิดปากน้ำปัตตานี ส่วนทางบกยกไปสมทบกับกรุงเทพฯ และสงขลา แยกย้ายเข้าตีหัวเมืองแขก ปรากฏว่าสามารถปราบกบฏหัวเมืองแขกได้ภายในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน
อนึ่ง ในการศึกไทรบุรีครั้งนี้มีเรื่องเล่าในหมู่วงศ์ญาติของเจ้าพระยานคร (น้อย) สืบต่อกันมาว่า เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ทราบข่าวว่าพระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) บุตรชายของตนซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองไทรบุรี และพระเสนานุชิต (นุช) บุตรชายอีกคนซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดเมืองไทรบุรีถอยหนีพวกกบฏตนกูเด่นไปถึง เมืองพัทลุงโดยมิได้แสดงฝีมือให้สมเป็นเจ้าเมือง ก็มีความโกรธเป็นอันมาก ถึงกับสั่งให้ลงโทษบุตรทั้งสองโดยการเฆี่ยนด้วยหวายคนละ ๓๐ ที ทั้ง ๆ ที่บุตรทั้งสองต้องอาวุธฝ่ายกบฏมาแล้ว ทั้งนี้นัยว่าเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ข้าทหารในกองทัพสืบไป

มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งว่าการกบฏที่เกิดมาแล้วทั้งสองครั้งนั้น ล้วนเกิดจากความพยายามของพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ในอันที่จะแสวงหาโอกาสเพื่อกลับคืนมาครองเมืองไทรบุรีให้ได้ โดยพยายามอย่างยิ่งที่จะให้บริษัทอังกฤษช่วยเหลือให้ตนมาครองเมืองไทรบุรี ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ แต่เมื่ออังกฤษวางเฉย พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ก็มีจดหมายไปทักท้วงผู้ว่าการเกาะปีนังที่ชื่อ ฟูลเลอร์ตัน มีใจความโดยสรุปว่า “ถ้าบริษัทอังกฤษไม่ช่วยเหลือตนแล้วก็จะขอไปตามโชคชะตาของตนเอง แต่ไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญาเบอร์นี่ได้ เพราะว่าเมืองไทรบุรีไม่ได้เป็นของกำนัลที่ตนได้รับมาจากไทย หรือได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองจากไทยแต่ประการใด เมืองไทรบุรีเป็นสมบัติของพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) โดยผ่านทางการสืบมรดกตกทอดมาจากปู่ย่าตาทวดต่างหาก ตนจะขอยอมตายเสียดีกว่าจะปฏิบัติตามสนธิสัญญา” ความข้อนี้จึงทำให้พิจารณาได้ว่า ศึกเมืองไทรบุรีเห็นจะยุติได้ไม่ง่ายนัก เพาะฝ่ายที่แพ้สงครามยังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของตน และยังอ้างสิทธิเหนือแผ่นดินไทรบุรีตลอดมา แต่ฝ่ายไทยนั้นเห็นว่าเมืองไทรบุรีนั้นเป็นเมืองขึ้นของไทย จะต้องยอมรับสิทธิในฐานะเมืองขึ้นทุกประการ เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่องการยุติการกบฏในเมืองไทรบุรีคงเป็นได้ยาก และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะในเวลาต่อมาคือใน พ.ศ. ๒๓๘๑ ก็เกิดกบฏเมืองไทรบุรีขึ้นอีก

๑.๔ การศึกเมืองไทรบุรีครั้งที่สี่ (พ.ศ. ๒๓๘๑)
พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ยังไม่ละความพยายามที่จะเอาเมืองไทรบุรีคืนมาให้ได้ ดังนั้นจึงได้เตรียมการก่อกบฏครั้งใหม่ขึ้นอีก โดยมีตนกูหมัดสอัด และตนกูอับดุลลาห์ ซึ่งเป็นโจรสลัดในทะเลฝั่งตะวันตกเป็นหัวหน้า สมทบกับหวันมาลี หัวหน้าแขกสลัดที่เกาะยาว (เขตจังหวัดพังงาในปัจจุบันนี้) อีกแรงหนึ่ง
ฝ่ายกบฏเข้ายึดเมืองไทรบุรีทั้งทางบกและทางเรือ พระยาอภัยธิเบศร (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีพร้อมข้าราชการฝ่ายไทยหนีมายังเมืองพัทลุงอีกครั้ง พวกกบฏบุกตีเมืองไทรบุรีได้แล้วก็ยกทัพเรือมาตีได้เมืองตรัง อีกสายหนึ่งก็เข้าตีเมืองปัตตานีและสงขลา และหัวเมืองแขกทั้งเจ็ด ขณะนั้นเจ้าเมืองสงขลา (เซ่ง) และเจ้าพระยานคร (น้อย) ยังอยู่ในระหว่างการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีสุลาไลย สมเด็จพระพันปีหลวง

ครั้นเมื่อทราบข่าวกบฏจึงรีบเดินทางกลับมาเกณฑ์คนที่เมืองนครศรีธรรมราชและ พัทลุงจัดเป็นกองทัพ มอบหมายให้พระยาอภัยธิเบศร (แสง) พระยาวิชิตสรไกร (กล่อม) พระเสนานุชิต (นุช) ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) ทั้งสามคนคุมกำลังประมาณ ๔,๐๐๐ คน ยกไปตีกบฏเมืองไทรบุรีได้สำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนเจ้าพระยานคร (น้อย) นั้นป่วยเป็นโรคลมไม่สามารถคุมทัพไปด้วยตนเองได้ ขณะเดียวกันทางกรุงเทพฯ ได้ส่งพระวิชิตณรงค์ (พัด) และพระราชวรินทร์ คุมทหารกรุงเทพฯ ประมาณ ๗๙๐ คน มาช่วยรักษาเมืองสงขลาไว้ก่อน พวกกบฏแขกที่ล้อมสงขลาอยู่แล้วได้ทราบว่ากองทัพนครศรีธรรมราชตีไทรบุรีแตก แล้ว และกำลังบ่ายหน้ามาช่วยเมืองสงขลาพร้อมกับทัพกรุงเทพฯ จึงเกิดความเกรงกลัว พากันหนีกลับไปโดยที่ยังไม่ได้ตีเมืองสงขลาเลย เป็นอันว่าทัพนครศรีธรรมราชสามารถปราบปรามไทรบุรีได้อย่างง่ายดายอีกครั้ง หนึ่ง  การศึกครั้งนี้เป็นการศึกครั้งสุดท้ายในชีวิตของเจ้าพระยานคร (น้อย) เพราะเมืองเจ้าพระยานคร (น้อย) ทราบข่าวเกิดการกบฏไทรบุรีขึ้นก็ได้รีบกลับมายังเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อตระ เตรียมทัพไปตีไทรบุรี แต่ได้เกิดเป็นโรคลมและถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน

จึงเห็นได้ว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นนักรบผู้เข้มแข็ง และมีความสามารถโดยแท้ สามารถนำไพร่พลไปสู้รบในต่างแดนได้ทั้งทางบกทางน้ำ และได้รับชัยชนะกลับมาทุกครั้ง

๒. ด้านการทูต
สงบ ส่งเมือง* (* สงบ ส่งเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างราชธานีกับหัวเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยกรุงศรีอยุธยาและ รัตนโกสินทร์ตอนต้น ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ๒๕๑๘) ได้กล่าวถึงบทบาทของเจ้าพระยานคร (น้อย) ว่าเป็นนักการทูตคนสำคัญในยุคนั้น โดยเฉพาะการทูตระหว่างไทยกับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๒ – ๓  เจ้าพระยานคร (น้อย) มีความเฉลียวฉลาดมีปฏิภาณไหวพริบในการเจรจาความเมือง และผลแห่งการเป็นนักการทูตผู้มีปฏิภาณ ได้ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีอิทธิพลต่อหัวเมืองมลายู และเป็นที่นับถือยำเกรงแก่บริษัทอังกฤษ ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลการค้าและการเมืองมายังภาคพื้นเอเซียอาคเนย์ ดังรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไปนี้

 ๒.๑ การเจรจากับครอเฟิด พ.ศ. ๒๓๖๕
ภายหลังที่เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ยกทัพไปตีเมืองไทรบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๔ ในฐานเอาใจออกห่างไทยไปติดต่อพม่า และพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้หลบหนีไปอาศัยอังกฤษอยู่ที่เกาะปีนัง เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ติดต่อขอตัวพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) คืน แต่ผู้ว่าการเกาะปีนังคือนายฟิลิปป์ (Robert Philipps) ได้ปฏิเสธที่จะส่งตัวคืน ทำให้เจ้าพระยานคร (น้อย) ขัดเคืองมาก และบริษัทอังกฤษก็มีท่าทีต้องการให้พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) กลับไปครอบครองเมืองไทรบุรีอีก แต่ฝ่ายไทยต้องการเอาตัวมาแก้ข้อกล่าวหาที่กรุงเทพฯ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันเรื่อยมา

ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียทราบเหตุ จึงได้ส่งยอห์น ครอเฟิด (John Crawfurd)  จากอินเดียมายังเกาะปีนัง โดยให้เน้นเกี่ยวกับเรื่องการค้ามากกว่าเรื่องเมืองไทรบุรีและเมืองเประ ครอเฟิดได้เข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ โดยเริ่มเจรจาเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๖๕ การเจรจาครั้งนี้แม้เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ได้เข้าเจราจาด้วย แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) คงทราบดีว่าครอเฟิดน่าจะเจรจาไม่สำเร็จอย่างแน่นอน เพราะครอเฟิดมีท่าทีโอนอ่อนตามผู้ว่าการเกาะปีนังที่ต้องการให้พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) กลับมาครองเมืองไทรบุรีดังเดิม ซึ่งก็เป็นไปดังคาด เพราะในการเจรจาครั้งนี้ครอเฟิดได้กล่าวหาว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) กระทำการต่าง ๆ โดยลำพัง และพยายามเกลี้ยกล่อมให้ไทยยอมรับพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) กลับไปครองเมืองตามเดิม แต่ฝ่ายไทยไม่ยินยอม การเจรจาจึงล้มเหลว

 ๒.๒ การเจรจากับบริษัทอังกฤษที่ปีนัง พ.ศ. ๒๓๖๕

     ภายหลังครอเฟิดกลับไปใน พ.ศ. ๒๓๖๕ แล้ว เจ้าพระยานคร (น้อย) ก็ได้รับคำสั่งจากราชธานีให้พยายามติดต่อกับผู้ว่าการเกาะปีนังอีกหลายครั้ง เพื่อให้ส่งตัวพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) โดยให้เหตุผลว่าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) มีความผิดฐานกบฏตามกฎหมายไทย แต่ถูกปฏิเสธกลับมา ในระยะแรก ๆ เจ้าพระยานคร (น้อย) ก็ไม่ได้ตอบโต้ว่ากระไร แต่ครั้นต่อมาพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ซึ่งอาศัยในเกาะปีนังได้สนับสนุนให้ลูกหลานและสมัครพรรคพวกลักลอบเข้ามาก่อ การร้ายประการต่าง ๆ รวมทั้งทำร้ายเจ้าหน้าที่ไทยอยู่บ่อย ๆ เจ้าพระยานคร (น้อย) จึงได้แจ้งให้บริษัทอังกฤษที่เกาะปีนังทราบอีก แต่ฝ่ายอ้งกฤษก็เฉยเมยเสียเช่นเคย ทั้งยังปฏิเสธว่ามิได้มีส่วนช่วยเหลือพวกกบฏแต่อย่างใด ทำให้เจ้าพระยานคร (น้อย) ไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงหาทางตอบโต้เป็นการทดแทนบ้าง โดยการให้เจ้าหน้าที่ไทยในเมืองไทรบุรีคิดภาษีสินค้าขาออกที่ชาวอังกฤษซื้อ จากไทรบุรี บริษัทอังกฤษในเกาะปีนังได้รับความเดือดร้อน จึงได้มาขอให้ไทยงดเก็บภาษีสินค้าขาออกต่อเจ้าพระยานคร

(น้อย) ในฐานะผู้สำเร็จราชการเมืองไทรบุรี โดยอ้างว่าเมืองพระยาไทรบุรี (โมกุรัมซะ) อนุญาตให้อังกฤษเช่าเกาะปีนังนั้น ได้สัญญาว่าจะเก็บภาษีสินค้าอาหารที่บริษัทอังกฤษขื้อไปบริโภคในเกาะปีนัง เจ้าพระยานคร (น้อย) เห็นเป็นทีของตน จึงตอบไปว่าเมืองไทรบุรีเป็นเมืองขึ้นของกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ไม่เคยอนุญาตให้พระยาไทรบุรี (โมกุรัมซะ) ไปทำสัญญากับอังกฤษ บริษัทอังกฤษทำสัญญากับพระยาไทรบุรี (โมกุรัมซะ) โดยพลการ ตนจึงยอมทำตามสัญญาไม่ได้ เป็นอันว่าอังกฤษต้องยอมรับความเดือดร้อนอันเป็นผลกรรมจากการสนับสนุนพระยา ไทรบุรี (ปะแงรัน) ไปโดยปริยาย

การเจรจากับอังกฤษและเหตุการณ์อันเป็นผลจากการเจรจาครั้งนี้ ทำให้ฝ่ายไทยได้รับประโยชน์และช่วยลดอิทธิพลของอังกฤษลงไปได้มาก นับว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นนักการทูตที่มีความสามารถและฉลาดรู้ทันผู้อื่นมากที่สุด

๒.๓ การเจรจากับเฮนรี่ เบอร์นี่ ที่นครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๓๖๘
บริษัทอังกฤษที่เกาะปีนัง ได้พยายามติดต่อเจ้าพระยานคร (น้อย) หลายครั้ง แต่เจ้าพระยานคร (น้อย) ก็แกล้งทำเฉยเสีย ด้วยรู้ว่าอังกฤษมีจุดประสงค์จะให้พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เข้ามาครอบครองเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นเรื่องกิจการภายในองไทยอีกเช่นเคย เมื่อติดต่อไม่ได้ผล ข้าหลวงใหญ่ของบริษัทอังกฤษประจำเบงกอล จึงได้แต่งตั้งนายเฮนรี่ เบอร์นี่ (Henry Burney)  เป็นทูตเข้ามาเพื่อจะเจรจากับไทย เบอร์นี่เข้ามาถึงเกาะปีนังในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๓๖๗  ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่เจ้าพระยานคร (น้อย) กำลังประชุมทัพที่เมืองตรังและสตูล เพื่อยกไปตีเประและสลังงอ ฝ่ายบริษัทอังกฤษที่เกาะปีนังเห็นว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) จะขยายอำนาจต่อไปในดินแดนมลายู จึงหาทางยับยั้งโดยการส่งเรือรบปิดปากอ่าวเมืองตรังไว้ เป็นเหตุให้เจ้าพระยานคร (น้อย) ชะงักการส่งกำลังไปตีเมืองทั้งสอง เบอร์นี่จึงได้เข้ามายังเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเจรจาปัญหาเมืองเประ สลังงอ และไทรบุรี รวมทั้งปัญหาการค้า ผลการเจรจาครั้งนี้ได้เกิดมีสัญญาเบื้องต้น (Preliminary Treaty) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๘  ที่เมืองนครศรีธรรมราชไว้เป็นแนวทางในการเจรจากับรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง สัญญาเบื้องต้นนี้มีใจความโดยสรุปว่า
ก. เจ้าพระยานคร (น้อย) จะไม่ส่งทหารไปยังเประและสลังงออีก ส่วนอังกฤษก็จะไม่เข้ายึดครองหรือแทรกแซงเมืองเประและสลังงอเช่นเดีวกัน

ข. บริษัทอังกฤษจะไม่แทรกแซงการปกครองเมืองไทรบุรี ถ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้กลับมาครองเมืองไทรบุรี บริษัทอังกฤษก็จะบังคับให้ส่งดอกไม้เงินทองให้แก่ไทยปีละ ๔,๐๐๐ ดอลล่าร์ ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) สัญญาว่าถ้าพระมหากษัตริย์ไทยยินยอมให้พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) กลับมาครองเมืองไทรบุรีอีก เจ้าพระยานคร (น้อย) จะถอนเจ้าหน้าที่ไทยกลับจากเมืองไทรบุรีทั้งหมด และไม่โจมตีไทรบุรีอีก

ถ้าพิจารณาดูตามเนื้อความในสัญญาเบื้องต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) ยอมอ่อนข้อให้แก่เบอร์นี่มาก แต่ถ้าพิเคราะห์ให้ละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) ก็มีเจตนาจะแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างไทยกับบริษัทอังกฤษในเรื่องไทรบุรี เปราะ และสลังงอ โดยวิธีการที่นุ่มนวลอย่างแท้จริง เพราะหากดึงดันที่จะโจมตีเประและสลังงอด้วยเจตนาดั้งเดิม ไทยก็จะต้องก่อศึกขึ้นอีกด้านหนึ่งอย่างแน่นอน และปัญหาเมืองแขกที่คาราคาซังมาโดยตลอดก็จะยุติได้โดยยาก ตรงกันข้ามนับวันแต่จะเพิ่มพูนขึ้นทุกขณะ

๒.๔ การเจรจากับคณะทูตของเบอร์นี่ที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๓๖๙
เมื่อเบอร์นี่เดินทางจากนครศรีธรรมราชกลับไปอินเดีย เพื่อขออนุมัติเจรจากับรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ แล้ว ก็ได้เดินทางมายังปีนังแล้วออกจากปีนังเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๘ มาแวะสิงคโปร์ ตรังกานู และมาถึงนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๖๘ ภายหลังที่พักอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช ๘ วัน ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยมีบุตรชายเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นผู้นำทางไปถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๘ ส่วนเจ้าพระยานคร (น้อย) นั้นได้เดินทางโดยทางบกตามหลังไป และไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๖๙ หลังเบอร์นี่ประมาณสองเดือนเศษ

การเจรจาที่กรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งข้าราชการสำคัญ ๆ หลายคนเป็นคณะเจรจา เช่น กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เจ้าพระยาอภัยภูธร เจ้าพระยามหาเสนา และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) แต่ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุดก็คือ เจ้าพระยานคร (น้อย) ด้วยเหตุที่ได้เคยเจรจากับเบอร์นี่มาก่อน เจ้าพระยานคร (น้อย) จึงต้องรับภาระการเจรจาอย่างหนัก ต้องเป็นตัวกลางคอยประสานความเข้าใจระหว่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้า อยู่หัวกับฝ่ายเบอร์นี่ ต้องพยายามชี้แจงให้ฝ่ายไทยมองเห็นปัญหาเรื่องหัวเมืองมลายูที่ตนเองประสบมา และต้องรับภาระรับผิดชอบอย่างละเอียดลออ

ผลการเจรจาครั้งนี้ได้ลุล่วงไปด้วยดี มีการลงนามกันเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๖๙ เรียกว่า “สัญญาเบอร์นี่” ข้อใหญ่ใจความของสัญญาพอสรุปได้ดังนี้
มาตรา ๑๒ ไทยจะไม่ทำการขัดขวางการค้าขายในเมืองตรังกานูและกลันตัน พ่อค้าและคนในบังคับของอังกฤษสามารถไปมาค้าขายได้โดยสะดวกต่อไปในเมืองทั้ง สอง อังกฤษจะไม่ไปรบกวนโจมตี หรือก่อความไม่สงบขึ้นในเมืองทั้งสองแต่ประการใด

มาตรา ๑๓ ไทยให้สัญญาต่ออังกฤษว่า ไทยยังคงปกครองเมืองไทรบุรีต่อไป และจะให้ความคุ้มครองแก่เมืองไทรบุรีและประชาชนชาวเมืองไทรบุรีตามความเหมะ สม ไทยสัญญาว่าเมืองเจ้าพระยานคร (น้อย) ออกมาแต่กรุงเทพฯ ก็จะปล่อยครอบครัว ทาสบ่าวคนของพระยาไทรบุรีคนเก่าให้กลับคืนไปตามชอบใจ อังกฤษขอสัญญาต่อไทยว่าไม่ต้องการเอาเมืองไทรบุรี และไม่ให้พระยาไทรบุรีคนเก่ากับบ่าวไพร่ของพระยาไทรบุรีคนเก่าไปรบกวนทำ อันตรายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ณ เมืองไทรบุรี และเมืองอื่น ๆ ซึ่งขึ้นกับเมืองไทรบุรี เมืองปีนัง เมืองเประ เมืองสลังงอ เมืองพม่า ถ้าอังกฤษไม่ให้พระยาไทรบุรีคนเก่าไปอยู่เมืองอื่นตามสัญญา ก็ให้ไทยเรียกเอาภาษีข้าวเปลือก ข้าวสารที่เมืองไทรบุรีเหมือนแต่ก่อน

มาตรา ๑๔ ไทยกับอังกฤษสัญญาต่อกันว่าให้พระยาเประครองเมืองเประ ให้พระยาเประถวายดอกไม้เงิน ณ กรุงเทพฯ ตามแต่ก่อนก็ตามใจพระยาเประ อังกฤษไม่ห้ามปราม เจ้าพระยานคร (น้อย) จะใช้ไทย แขก จีน หรือคนฝ่ายไหนลงไปเมืองเประโดยดี ๔๐ – ๕๐ คน อังกฤษไม่ห้ามไทย อังกฤษไม่ยกกองทัพไปเบียดเบียนรบกวนเมืองเประ อังกฤษไม่ให้เมืองสลังงอมารบกวนเมืองเประ ไทยก็ไม่รบกวนเมืองเประ* (* ตัดตอนมาจาก จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ จ.ศ. ๑๑๘๘ (พ.ศ. ๒๓๖๙)  เลขที่ ๑๕)
จะเห็นว่าสนธิสัญญานี้ ทั้งฝ่ายอังกฤษและไทยต่างก็ประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายอังกฤษสามารถยับยั้งไม่ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) ขยายอำนาจของไทยลงไปทางหัวเมืองมลายู และสามารถซื้อเสบียงอาหารจากเมืองไทรบุรีได้โดยสะดวก ไม่ต้องเสียภาษีสินค้าขาออกเหมือนดังแต่ก่อน ส่วนทางฝ่ายไทยก็สามารถเจรจาให้อังกฤษยอมรับว่าไทรบุรีเป็นเมืองขึ้นของไทย เป็นลายลักษณ์อักษรได้สำเร็จ ทั้งสามารถยุติปัญหาขัดแย้งที่สำคัญระหว่างไทยกับบริษัทอังกฤษที่เกาะปีนัง ลงได้

เบื้องหลังความสำเร็จของสนธิสัญญานี้ ต้องนับเป็นความสามารถของเจ้าพระยานคร (น้อย) โดยแท้ เพราะเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นผู้รอบรู้เรื่องราวของปัญหาความยุ่งยากของหัวเมืองมลายูดีกว่าใครในแผ่น ดินไทยเวลานั้น ในระยะต้น ๆ ของการเจรจานั้น กล่าวกันว่าคณะผู้แทนไทยหลายคนไม่ค่อยเข้าใจ และมีความเห็นขัดแย้งกับเจ้าพระยานคร (น้อย) บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมองเห็นว่าไทยไม่ควรเสียเปรียบอังกฤษ ตรงข้ามควรจะได้ขยายอาณาเขตลงไปในมลายูให้มากขึ้น โดยมิได้คำนึงว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ติดตามมา และคนทีรับผิดชอบเรื่องนี้ก็คงไม่พ้นไปจากเจ้าพระยานคร (น้อย) อีก แต่เจ้าพระยานคร (น้อย) นั้นสัมผัสอยู่กับปัญหาเหล่านี้มานานปี ทำให้มองเห็นว่าหนทางที่ขจัดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น หาใช่การนำกำลังเข้าทำสงครามกันอย่างเดียวไม่ หากแต่ต้องใช้วิธีการทูตเข้าไปแก้ไขปัญหาด้วย เมื่อการเจรจาสำเร็จลงด้วยดี โดยที่ไทยไม่เสียประโยชน์ในการทำสนธิสัญญา จึงนับได้ว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) มีความสามารถทางการทูตและวิเทโศบายทางการทูตเป็นเลิศในยุคนั้นโดยแท้

๓. การต่อเรือ
เจ้าพระยานคร (น้อย) มีความเชี่ยวชาญในการต่อเรือมาก คือได้ต่อเรือกำปั่นหลวงสำหรับบรรทุกช้างไปขายที่อินเดีย ทำให้ประเทศชาติมีรายได้มาก และที่สำคัญคือได้ต่อเรือรบขนาดย่อมไปจนถึงเรือขนาดใหญ่ที่ต้องใช้กรรเชียง สองชั้น เรือรบที่ต่อก็มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยปรากฏมาก่อน เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ต่อเรือรบและเรือลาดตระเวนเหล่านี้ที่เมืองตรัง และเมืองสตูลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ – ๒๓๕๔ ครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๓๖๔ – ๒๓๖๖ ได้ต่อเรือรบเป็นจำนวนถึง ๑๕๐ ลำ ที่บ้านดอน เจ้าพระยานคร (น้อย) มีกองทัพเรือขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองตรัง ประกอบด้วยขวนเรือทั้งหมดประมาณ ๓๐๐ ลำ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นกองทัพเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรขณะ นั้น เพราะแม้ทางกรุงเทพฯ เองก็เพิ่งจะมาตื่นตัวในการสร้างกองทัพเรือขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๗๑ เมื่อไทยเริ่มเป็นศัตรูกับญวน

เรื่องความสามารถทางด้านการต่อเรือของเจ้าพระยานคร (น้อย) นั้น มีหลักฐานปรากฏยืนยันอยู่อีกหลายแห่ง เช่น

๑. ครั้งเจ้าพระยานคร (น้อย) เข้ามาเฝ้ากราบบังคมทูลและช่วยงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ ได้ต่อเรือพระที่นั่งที่บ้านดอน (จังหวัดสุราษฎร์ธานีปัจจุบัน) เข้าไปถวาย ชื่อเรือพระที่นั่งอมรแมนสวรรค์ ปากกว้าง ๓ วา เป็นเรือกำปั่นใบ ต่ออย่างประณีต ขัดทั้งข้างในข้างนอก
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นเรือพระที่นั่งรบ ในขณะนั้นไทยบาดหมางกับญวน ทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยกับญวน จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) คิดต่อเรือรบตัวอย่างขึ้นอีกลำหนึ่ง ให้ใช้ได้ทั้งในลำคลองและในทะเล เจ้าพระยานคร (น้อย) จึงได้ต่อเรือซึ่งมีหัวเป็นปากปลาและท้ายเป็นกำปั่นแปลง มีพลแจวทั้งสองแคม มีเสาใบสำหรับแล่นในทะเล ปากกว้าง ๙ ศอก ๑ คืบ ยาว ๑๑ วา ขึ้นถวายเป็นตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานนามว่า “เรือมหาพิไชยฤกษ์” และทรงตรัสชมไว้ในคราวนั้นว่า “ ….. เห็นว่าบรรดาเจ้าเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกไม่รู้การพินิจเหมือนเจ้าพระยานคร คนนี้ จะทำการสิ่งใดก็หมดจดเกลี้ยงเกลาเป็นช่าง และรู้พิเคราะห์การดีและชั่ว ….”

๒. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้แบบเรือ “มหาพิไชยฤกษ์” ที่เจ้าพระยานคร (น้อย) สร้างไว้ มาเป็นแบบในการสร้างเรือรบขึ้นอีก ๓๐ ลำ เพื่อเตรียมการรับมือสงครามกับญวน โดยทรงเกณฑ์เสนาบดี เจ้าสัว เจ้าภาษี และนายอากรช่วยกันออกเงินสร้าง ทั้งนี้ได้พระราชทานเงินสมทบลำละ ๓๐ ชั่ง เรือรบที่สร้างขึ้นตามแบบเรือมหาพิไชยฤกษ์นี้ ได้รับพระราชทานนามต่าง ๆ กัน เช่น เรือไชยเฉลิมกรุง เรือบำรุงศาสนา เรืออาสาสู้สมร และเรือขจรแดนรบ เป็นต้น
การพัฒนาเครื่องถม

“เครื่องถม” เป็นหัตกรรมชั้นสูงที่ชาวนครทำสืบทอดกันมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง บ้างก็ว่าเป็นฝีมือการรังสรรค์ของชาวนครครั้งโบราณ บ้างก็ว่าได้รับสืบทอดความรู้จากชาวโปรตุเกสที่มาติดต่อค้าขาย แต่ไม่ว่าจะมีกำเนิดมาอย่างไร งานศิลปหัตถกรรมประเภทนี้ก็กลายเป็นงานฝีมือเอกลักษณ์ของเมือง  ล่วงมาถึงสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นเจ้าเมืองก็ได้พัฒนางานนี้ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง โดยกะเกณฑ์เอาเชลยชาวเมืองไทรบุรีที่มีฝีมือช่างโลหะอยู่ก่อนแล้ว มาฝึกฝนทำเครื่องถมจนชำนาญ เจ้าพระยานคร (น้อย) ให้การเอาใจใส่ดูแลอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นผู้มีความประณีตบรรจงในงานช่างเป็นทุนอยู่แล้ว ถมในสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) จึงโดดเด่นเป็นพิเศษ งานถมชิ้นใดที่สวยงามเป็นเลิศก็มักนำไปทูลเกล้า ฯ ถวายทุกครั้งที่เข้าเฝ้าฯ จนกล่าวได้ว่ามีจำนวนมากมายในราชสำนัก
ในเรื่องการพัฒนาเครื่องถมนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชโองการอนุสรณ์ถึงงานช่าง ดังกล่าวของเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งทรงสนิทสนมด้วยเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ว่า “เจ้าพระยานครศรีธรรมราชผู้เป็นบิดาพระยาอุทัยธรรมราชนั้นเล่า ได้จัดแจงจัดทำของดี ๆ มีราคาและหาของประหลาดมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้เป็นเครื่องราโชปโภคใช้ สอยเพิ่มพูนสิริราชสมบัติหลายสิ่งหลายประการ เมื่อเสร็จพระราชดำเนินไปประทับที่ใด ๆ ในพระราชนิเวศน์มหาสถาน ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งของซึ่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้จัดแจงทูลเกล้าฯ ถวายในที่นั้น ๆ โดยมาก จนถึงจะกล่าวว่าของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชซึ่งทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายไว้ นั้น มีอยู่ในที่เสด็จประทับทุกแห่งก็ว่าได้”
ชีวิตครอบครัว

ชีวิตครอบครัวเจ้าพระยานคร (น้อย) สมรสกับท่านผู้หญิงอิน ซึ่งเป็นราชินีกูล ธิดาพระยาพินาศอัคคี (ตระกูล ณ บางช้าง) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า “พี่อิน” ท่านผู้หญิงอินมีบุตรธิดากับเจ้าพระยานคร (น้อย) ๖ คน ในจำนวนนี้คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) ซึ่งต่อมาได้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชสืบแทนบิดา ส่วนบุตรธิดาของเจ้าพระยานคร (น้อย) ที่เกิดจากภรรยาอื่นก็ยังมีอีกหลายคน
เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ถึงแก่อสัญกรรมขณะเตรียมทัพไปปราบเมืองไทรบุรีครั้งสุดท้าย ด้วยโรคลม อาเจียนจนน้ำลายเหนียว เสมหะปะทะหน้าอก ครั้นถึงวันอาทิตย์ เดือน ๖  แรมสี่ค่ำ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๐๑ พ.ศ. ๒๓๘๑ (ตรงกับวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๑) โรคกำเริบขึ้นอย่างรวดเร็ว และถึงแก่อสัญกรรมในคืนนั้น สิริรวมอายุได้ ๖๒ ปีเศษ รวมเวลาปกครองเมืองนครศรีธรรมราช ๒๘ ปี
เจ้าพระยานคร (น้อย) หรือ “น้อยคืนเมือง” (ตามพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ ๔) หรือ “เจ้าคุณบ้านดอน” (ตามบันทึกของพลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต) เป็นแบบฉบับของนักการทหาร นักการทูต และนักการปกครองที่ดีเด่นอยู่หลายประการ คือเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งเด็ดขาด มีวินัย ซื่อตรงและมีความเชื่อมั่นในตนเองเป็นอย่างยิ่ง ในคำอธิษฐานของคุณพุ่ม หรือบุษบาท่าเรือจ้าง กวีหญิงในสมัยรัตนโกสินทร์ได้กล่าวไว้ว่า “ขออย่าให้เป็นพลพายของเจ้าพระยานคร” เล่ากันว่าพลพายของเจ้าพระยานคร (น้อย) นั้นต้องเข้มแข็ง พายเรือได้เร็ว พร้อมเพรียง และรู้กระบวนพายทุกท่า ถ้าทำบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องหามเรือขึ้นบก และคว่ำเรือลงพลพายทุกคนต้องถองเรือพร้อม ๆ กัน อันเป็นการทำโทษอย่างหนึ่ง นั่นเป็นเรื่องแสดงให้เห็นว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นนักการทหารและนักการปกครอง ที่มีความเข้มแข็งเด็ดขาด ลงโทษผู้กระทำผิดอย่าไม่ไว้หน้า ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ก่อเกิดความมีวินัยเป็นอย่างดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา อันเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งขุนทหารและผู้นำโดยแท้

วิเชียร ณ นคร
จากหนังสือ “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ”
นางสาวพร้อม ณ นคร
ณ เมรุวัดท่าโพธิ์วรวิหาร ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง
นครศรีธรรมราช วันเสาร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔
http://nanagara.com/history-02.html