นายกสื่อฯ-เมืองคอนฯ ตั้งโต๊ะ เชิญทุกฝ่ายร่วมเปิดเวที หลังโครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองชะงัก…!!! เหตุชาวบ้านได้รับผลกระทบหนัก
จากกรณีที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 9,580 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชใช้ที่ดินทั้งหมด 1,670 แปลง เพื่อขุดคลองระบายน้ำ จำนวน 3 สายความยาว 18.64 กิโลเมตร ขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองวังวัว ความยาว 5.90 กิโลเมตร ขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองท่าเรือ-หัวตรุด ความยาวประมาณ 11.90 กิโลเมตร และก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ จำนวน 7 แห่ง มีการสำรวจปักหลักเขตแล้ว 1,612 แปลง จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดิน 218 แปลง และจ่ายเงินค่ารื้อย้ายฯ 246 ราย มีการลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างคลองระบายน้ำสาย 3 สัญญาที่ 1 ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ส่วนสัญญาที่ 2 และ 3 คาดว่าจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 และยังมีพื้นที่ที่ไม่สามารถดำเนินการปักหลักเขตในส่วนของคลองระบายน้ำสาย 1 (คลองผันน้ำ) ความยาว 1.3 กิโลเมตร จำนวน 58 แปลง ในท้องที่ตำบลไชยมนตรี อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทาง พร้อมข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนโครงการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับราษฎรต่อไป โดยจากเดิมกำหนดแล้วเสร็จในระยะเวลา 6 ปี แต่เนื่องจากเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขเร่งด่วน ทางรัฐบาลได้กำชับสั่งการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการและประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะในช่วง 1.3 กม.ในพื้นที่ ต.ไชยมนตรี ที่มีการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการ ตามที่สื่อหลายสำนักได้นำเสนอไปก่อนหน้าแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2561ที่ผ่านมาที่สถาบันการเรียนรู้การจัดการตนเอง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ศูนย์ข่าวนคร 24 ชม.สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดเวทีเสวนาคลองผันเลียงน้ำเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น โดยเชิญทั้งนักวิชาการ และกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่การก่อสร้างทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่เข้าร่วมเสวนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็น เพื่อรับฟังปัญหาของทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างบนพื้นฐานของเหตุผลต่อไป
โดยผู้ที่เข้าร่วมเสวานา อาทิ นายยุทธนา แต่งวงค์ นายสมาคมสื่อมวลชนนครศรีธรรมราช ในฐานะผู้จัดเสวนา นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัด จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานการเสวนาและตัวแทนจังหวัดนครศรีธรรมราช นายตระกูล หนูนิล ป้องกันจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสันธนะ จันทร รักษาการเจ้าท่านครศรีธรรมราชนายธเนศ ดิฐปัญญา ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 นายทวี ไข่แก้ว โยธาธิการและผังเมืองนครศรีธรรมราช ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า นักวิชาการวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ดำรง โยธารักษ์ นักวิชาการต้นแบบแนวคิดเรื่อง “ฝายมีชีวิต” น.ส.ผกาวรรณ จุฬามณี อดีต ผอ.การบริหารจัดการน้ำภาค 1 นายจรุงศักดิ์ ชะโกฏิ นักวิชาการ ผศ.ดร.ไพรัช ฉิมหาด ผู้บริหาร มจร.นครศรีธรรมราช ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบและตัวแทนชาวบ้าน ต.บางจาก นายวรา จันทร์มณี ตัวแทนชาวบ้านคีรีวง อ.ลานสกา และมีตัวแทนชาวบ้านจาก ต.ไชยมนตรี ต.ท่าเรือ ต.บางจาก เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง โดยมีนายจรัญ อินทมุสิก เป็นผู้ดำเนินรายการ
ตลอดระยะเวลาการเสวนากว่า 4 ชม. ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านโครงการต่างผลัดกันนำเสนอข้อมูลที่ต่างฝ่ายต่างเตรียมมา เนื่องจากตั้งแต่เริ่มการดำเนินการในโครงการนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่เคยได้มีเวทีร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเหมือนในครั้งนี้ โดยที่ผ่านมา ต่างก็แสดงความคิดเห็นวิพากวิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานาทั้งในส่วนของความคิดเป็นส่วนตัวและส่วนรวม การที่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นร่วมกันในครั้งนี้ จึงทำให้ทุกฝ่ายมีโอกาสนำเสนอเรื่องราว ข้อมูลเชิงลึกซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีบนพื้นฐานของประโยชน์ของส่วนรวมต่อไป
ทางด้านนายยุทธนา แต่งวงศ์ นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า บรรยากาศในการเสวนาเป็นไปด้วยดี แม้จะมีการถกเถียงกันเสียงดังไปบ้างในบางประเด็น แต่ทุกคนก็ยืนอยู่บนหลักการและเหตุผล บนพื้นฐานผลประโยชน์ของเมืองนครศรีธรรมราช เพราะทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาบ้านเมือง
โดยผลสรุปในการจัดเสวนาในครั้งนี้ถือว่าทางสมาคมสื่อมวลชนนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นองค์กรกลางในการจัดเวทีเสวนาประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ โดยส่วนตัวพอจะสรุปผลในเบื้องต้นได้หลาย ๆ ประเด็น อาทิ ชาวบ้านและชุมชนได้มาเสนอข้อมูลความต้องการและทางออกในการร่วมกันแก้ปัญหา ในขณะที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนและให้ตอบข้องใจให้ข้อมูลอย่างโครงการอย่างละเอียด ทำให้ทุกฝ่ายทั้งนักวิชาการและชาวบ้านได้รับทราบข้อมูลตามหลักการ และเหตุผลที่ต้องดำเนินการในโครงการนี้ ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน เป็นแนวทางในการดำเนินงานและลดการเผชิญหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การลดปัญหาความตึงเครียดได้ อีกทั้งกรรมการชุดตรวจสอบมาติดตามแก้ปัญหาได้ทราบถึงความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบและหาทางออกในการตอบสนอง และให้ความเป็นธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียสละในการดำเนินการโครงการนี้โดยตรง ในขณะที่สถาบันจัดการเรียนรู้เพื่อจัดการตนเองสามารถถอนบทเรียนนำไปเชื่อมโยงการจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชา(ฝายมีชีวิต)เพื่อจัดการตนเองได้อย่างถูกต้องตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น และเป็นแนวทางการจัดเวทีเพื่อมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการพัฒนาจังหวัดในอนาคตต่อไป
ติดตามชมคลิปได้ที่ https://www.facebook.com/nakhonfocusdotcom