ปปท.พบพิรุธ “งบขุดคลองแก้น้ำท่วม 57 ล้าน เมืองคอน” จริง ส่งต่อ ปปช. ตรวจสอบ…!!!

2408

พบพิรุธขุดคลองแก้น้ำท่วม 57 ล้าน นครศรีธรรมราช ล่าสุด พบว่ามีมูลความผิดจริง

ความคืบหน้า กรณีโครงการขุดลอกคลองในเขตพื้นที่ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ตามที่เพจหมาเฝ้าบ้านได้เปิดประเด็น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 ถึงกรณีความไม่ชอบมาพากลของโครงการดังกล่าว  ทำให้ สตง. เข้าตรวจสอบทันทีพร้อมสั่งให้แก้แบบ ส่งผลให้มีการตัดค่างานขนดินและอื่น ๆ เบื้องต้นทันที ไปราว 26 ล้านบาท

ล่าสุด ปปท. ได้สรุปข้อมูลตามคำร้องเรียน พร้อมสรุปว่ามีมูลความผิดจริง  จึงได้ส่งเรื่องต่อไปยัง ปปช. เรียบร้อยแล้ว

จากกรณี หลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยที่ทำการปกครองอำเภอจุฬาภรณ์ ได้ทำโครงการขุดลอกคลองในเขตพื้นที่ตำบลสามตำบล อำเภอจุฬาภรณ์ ตั้งงบประมาณดำเนินการไว้เกือบ 57 ล้านบาท เป็นการขุดลอกคลองสายหลัก สายรอง เหมือง และขุดคลองใหม่ รวมทั้งหมด 15 สาย

การจัดทำโครงการนี้เป็นไปอย่างเร่งรีบเพื่อเอางบประมาณมาลง โดยไม่ได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบว่าเมื่อละเลงงบไปแล้วจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน มีแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างไรข้อมูลทางลึกทราบว่าเร่งรีบเขียนแบบสองวันสองคืนเพื่อทำราคากลางโดยไม่ได้ลงสำรวจหน้างาน ซึ่งก็ปรากฎร่องรอยเป็นหลักฐานในแบบแปลน หากมีการสำรวจ ในแบบจะระบุค่าระดับดินเดิมไว้ควบคู่กับค่าระดับก่อสร้าง (ค่าระดับที่ขุด) ไว้ในรูปตัดตามขวางของคลองประมาณทุกระยะ 25 เมตร

เรื่องเดียวกันนี้ก็ปรากฎเป็นความชุ่ยในใบปร.4 ตามแปลนคลองแต่ละสายมีความกว้างไม่เท่ากันตั้งแต่ 2.5 เมตร 5 เมตร 8 เมตร ไปถึง 15 เมตร แต่ปร.4 ทุกใบระบุความกว้างเฉลี่ย 8 เมตร เหมือนกันหมดยกเว้นคลองวังฆ้อง

ประเด็นที่ว่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดวงเงินงบประมาณ ความกว้างคลอง ความลึก ปริมาณดินขุด ไม่สอดคล้องกับที่ทำจริง ตัวอย่างเช่น คลองทอนยูง พื้นที่จริงไม่มีสภาพเป็นคลอง ปร.4 ระบุกว้างเฉลี่ย 8 เมตร ขณะที่แบบแปลนระบุกว้างเฉลี่ย 5 เมตร ขุดดินออก 1.8 ลบ.ม./เมตร คิดค่างานเป็นการขุดลอกด้วยรถขุด ลบ.ม. ละ 27.15 บาท ทั้งที่สภาพเกือบทั้งเส้นเป็นการขุดคลองใหม่ ควรคำนวณค่าใช้จ่ายด้วยค่าการขุดดินด้วยเครื่องจักร ราคาต่อหน่วยที่ 17.61 บาท ต่างกันเกือบ 10 บาท

ทั้งโครงการมีการขุดคลอง 15 สาย คำนวณปริมาณดินขุดไว้รวม 601,421 ลบ.ม. คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่คูณ Factor F เป็นเงิน 28.7 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าไม่ได้มีการสำรวจและกำหนดพื้นที่ทิ้งดิน แต่มีการตั้งค่าขนย้ายดินไว้ถึง 16 ล้านบาท กรณีปกติหากขุดขึ้นมากองเกลี่ยในระยะที่เครื่องจักขุดทำงานได้จะไม่มีการคิดค่าขนย้ายดินทิ้ง แต่ถ้าขนย้ายดินทิ้งควรจะระบุว่า ทิ้งดินในรัศมี “ไม่ต่ำกว่า…กม.” แต่ในปร.เขียนผิดไปจากวิธีปกติ คือ งานขนย้ายดิน “ภายในระยะ 5 กม.” ซึ่งหมายถึงกองไว้ใกล้ ๆ ก็ได้

จากการสำรวจสภาพหน้างานก็พบว่าขุดลอกคลองทุกสายมีทั้งการนำดินขึ้นมาทำเป็นตลิ่ง ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในแบบ กองดินทิ้งบนพื้นที่ข้างเคียงในรัศมีเครื่องจักร

ในเรื่องราคาก็พบว่า การคำนวณค่าขนย้ายดินมีการตั้งราคาค่าขนย้ายไว้ 28.07 บาท/ลบ.ม. ซึ่งราคา ณ วันที่คำนวณราคากลางอิงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 15.37 บาท ต่างกัน 12.70 บาท ปริมาณการขนดินทั้งหมด 601,421.66 ลบ.ม. เป็นเงินส่วนต่างถึง 7,638,055 บาท

ข้อมูลทางลึกทราบว่ามีความผิดปกติการประมูลงานแบบ e-bidding เช่น ตัวเลขผู้ซื้อซองจำนวน 143 ราย ที่มีที่มาที่ไปไม่ชอบมาพากล โครงการมีผู้รับเหมาเข้ายื่นซองเพียง 4 ราย โดยผู้รับเหมาจากพัทลุงคว้างานไปในวงเงินสัญญา 55.89 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางล้านเศษ ข้อมูลการเสนอราคาของคู่แข่งรายอื่นไม่สามารถตรวจสอบได้เรื่องจากระบบใหม่ของกรมบัญชีกลางไม่เปิดเผยข้อมูล นอกจากนี้ยังมีข้อมูลตัวเลข 8 ล้าน 3 ล้าน กระจัดกระจายไปยังที่ต่าง ๆ

ความคืบหน้าล่าสุด  ปปท. ได้สรุปข้อมูลตามคำร้องเรียน พร้อมสรุปว่ามีมูลความผิดจริง  จึงได้ส่งเรื่องต่อไปยัง ปปช. เรียบร้อยแล้ว

ที่มา  https://www.facebook.com/Watchdog.ACT/photos/a.372914529407289/2158491927516198/?type=3&theater